ถั่วเวอราโนสไตโล (คาริบเบียนสไตโล) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ถั่วฮามาต้า”  เป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันตก  อเมริกากลางและอเมริกาใต้ นำเข้าประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513  โดยมหาวิทยาลัย ขอนแก่น  ถั่วฮามาต้าเป็นถั่วอายุ 2 – 3 ปี  ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ยตั้งตรงในดินที่อุดมสมบูรณ์ต้นโตเต็มที่สูงประมาณ  50 – 60 ซม.  แตกกิ่งก้านแผ่คลุมพื้นที่กว้าง ใบเป็นใบรวม ประกอบด้วย  3 ใบย่อยรูปร่างคล้ายหอกค่อนข้างยาวแต่แคบปลายใบเรียวแหลม  ไม่มีขนปกคลุม ดอกมีสีเหลือง ช่อดอกประกอบด้วยดอก 8 – 14 ดอก  อยู่รวมที่ปลายกิ่งออกดอกได้ทั้งปีแต่ช่วงที่ออกดอกมากที่สุดในเดือนกันยายน  ถั่วฮามาต้าติดเมล็ดได้ดีเมล็ดจะอยู่ในฝักๆละ 1 เมล็ด  โดยเมล็ดมี 2 ลักษณะ ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดฝักบนที่มีเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาลเข้มตรงปลายเป็นขอโค้งงอ และส่วนน้อยเป็นเมล็ดฝักล่างมีเปลือกหุ้มสีขาวมีขนและไม่มีขอ  ถั่วฮามาต้าเจริญเติบโตได้ในดินหลายชนิดตั้งแต่ดินทรายจนถึงดินร่วนปนดินเหนียว  แต่เจริญเติบโตได้ในดินเหนียวจัดไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ทนต่อการเหยียบย่ำของสัตว์  ทนต่อโรคแอนแทร็กโนสได้ดีและมีคุณค่าด้านอาหารสัตว์อยู่ในเกณฑ์ดี

                        สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ร้อยเอ็ดตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายเพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ปี 2558  ซึ่งถั่วฮามาต้าก็เป็นพืชอาหารสัตว์ชนิดหนึ่งที่สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ร้อยเอ็ดได้รับนโยบายในการผลิตในชั้นพันธุ์ขยาย และชั้นพันธุ์จำหน่ายในพื้นที่  16  ไร่  เพื่อให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดของคณะตรวจแปลงสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ร้อยเอ็ด  จึงได้ดำเนินการจัดซื้อผ้าตาข่ายไนล่อนจำนวนมาก  เพื่อใช้ปูตาข่ายรองพื้นของถั่วฮามาต้าชั้นพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับมอบเพื่อประหยัดแรงงานในการจัดเก็บผ้าตาข่ายไนล่อน  สถานีฯร้อยเอ็ด จึงจัดทำเครื่องม้วนเก็บผ้าตาข่ายโดยใช้เครื่องม้วน 1 เครื่อง

                        วิธีทำเครื่องม้วนผ้าตาข่ายไนล่อน ตัดเหล็ก 1 ½ นิ้ว x 1 ½ นิ้ว  ยาว 74 ซม. จำนวน  2 เส้น  เพื่อเชื่อมฐานขาตั้งเหล็ก ยาว 94 ซม. จำนวน 2 ตัว  เพื่อทำฐานขาตั้งด้านเฟือง  ตัดเหล็กขนาด 1 ½ นิ้ว x 1 ½ นิ้ว  ยาว 48.5  ซม. จำนวน  2  เส้น  ยึดฐานขาล่าง ยาว  104 ซม. ยึดขาตัวบน ตัดเหล็ก  1 นิ้ว ยาว 100 ซม. 2 ตัว  เพื่อเชื่อมฐานขาด้านล่างใช้เหล็กฉาก 2 นิ้ว ยาว 14 ซม. 2 ตัว  เพื่อเชื่อมติดกับขาเพื่อใช้ยึดน๊อตเฟืองขับ  ตัดเหล็กฉาก  2 นิ้ว  ยาว  22 ซม. 2 ตัว  เชื่อมติดกับขาด้านเฟืองขับเพื่อยึดตุ๊กตา  และเชื่อมติดกับขาด้านตรงข้ามเฟืองขับเพื่อรองรับเหล็กแป๊ป  4  หุน ยาว 125 ซม.  ตัดเหล็กกล่อง  1 นิ้ว  ยาว  36 ซม.  เพื่อทำฐานรับท่อเหล็กแป๊ปยาว  125  ซม. ใช้เหล็กฉาก  1 นิ้ว  ยาว 58  ซม. 2 ตัว  1 ตัวเชื่อมติดกับเหล็กยึดตัวบนและตัวล่างด้านเฟืองขับอีกตัวทำให้เลื่อนได้เพื่อปรับตามความยาวของผ้าตาข่ายไนล่อนใช้ท่อน้ำ PVC  ยาวประมาณ  120 ซม.1 ท่อน  เพื่อสวมเข้ากับท่อแป๊ป 4 หุน  เพื่อเวลาเก็บจะได้สะดวกขึ้นเพราะสามารถถอดเข้าถอดออกได้  และวิธีการม้วนเก็บผ้าตาข่าย  ใช้ผ้าตาข่ายไนล่อนสองข้างยึดกับปลายท่อ  PVC ล็อคเข้ากับที่ข้างมุมของแกนท่อหลังหมุนเฟืองแกนม้วนผ้าเข้าด้วยกันใช้เวลาประมาณ  2  นาที/ผืน  แล้วใช้เชือกมัดยึดหัวท้ายแล้วดึงท่อ  PVC  ทางปลายด้านใดด้านหนึ่งออกโดยใช้แรงงานคนหมุนพันผ้าตาข่าย  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ร้อยเอ็ด โทร.0 – 4358 -1454  

*******************************************************

ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์  กรมปศุสัตว์

เรียบเรียง : พิจารณา  สามนจิตติ  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  สำนักงานเลขานุการกรม