ประเทศไทยได้มีการนำเข้าโคเนื้อคุณภาพดีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทั้งๆ ที่น่าจะผลิตได้เองภายในประเทศ กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการสร้างโคพันธุ์ตาก เพื่อเป็นโคที่ให้เนื้อคุณภาพสูง มีการเจริญเติบโตดี โดยการนำเอาข้อดีของโคทั้ง 2 พันธุ์เข้ามารวมไว้ในพันธุ์เดียวกัน พันธุ์แรกที่ใช้คือ "โคพันธุ์ชาร์โรเลส์ (Charolais)" ซึ่งเป็นโคยุโรปที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ให้เนื้อคุณภาพดี เปอร์เซ็นต์ซากสูง พันธุ์ที่ 2 คือ "โคพันธุ์ไทยบราห์มัน (Thai Brahman)" ซึ่งเป็นโคเลือดอินเดียที่มีความดีเด่นเรื่องการทนร้อน ทนโรค และแมลงได้ดี โดยคาดหวังว่าโคพันธุ์ตาก จะเป็นโคพันธุ์ใหม่ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อของประเทศไทย โดยเฉพาะในธุรกิจโคขุนได้เป็นอย่างดี

          โคพันธุ์ตาก เป็นพันธุ์โคเนื้อที่สร้างขึ้นใหม่จากการผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นโคที่เติบโตเร็ว ในสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูของประเทศไทย เป็นโคที่เลี้ยงง่าย หากินเก่ง โตเร็ว ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนของประเทศไทยได้ดี มีขนาดและน้ำหนักปานกลางถึงใหญ่ สามารถนำไปขุนเพื่อให้ซากมีคุณภาพระดับปานกลางจนถึงระดับดี และดีมาก มีสายเลือดโคพันธุ์ชาร์โรเลส์ 62.5 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์บราห์มัน 37.5 เปอร์เซ็นต์ ให้เนื้อคุณภาพดีที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดเนื้อโคชั้นสูง ได้แก่ ภัตตาคารและโรงแรมชั้นนำ ทดแทนการนำเข้าโคเนื้อคุณภาพดีจากต่างประเทศได้ จนได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์ คิดค้น รางวัลดีเยี่ยม พ.ศ.2546 จากสภาวิจัยแห่งชาติ

          ลักษณะประจำพันธุ์ คือ เป็นโคที่มีขนาดใหญ่ปานกลาง ข้อเท้าใหญ่ สั้น แข็งแรง บริเวณกีบโค้งมนได้รูป สีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาดำ ส้นเท้าเสมอได้ระดับกับดิน หน้าผากกว้าง หน้าสั้น สันจมูกไม่โด่ง หน้าผากโค้งมนได้รูป หูกาง ขนาดเล็กและสั้นพอสมควร รูจมูกกว้าง ปลายจมูกชุ่มตลอดเวลา บริเวณจมูกและริมฝีปากโดยรอบจะมีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเทาดำ นัยน์ตาสีดำ ดวงตาแจ่มใสเป็นประกาย วางอยู่ห่างกันพอสมควร ขอบตาเรียวเล็กสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำเข้ม ขนตาสีครีมหรือน้ำตาลอ่อน ลำตัวหนา อกกว้างและลึกมาก หลังตรง อกกว้างและลึกมาก สะโพกใหญ่ ไหล่หนา คอสั้นใหญ่  ลำตัวมองดูเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกล้ามเนื้อมาก ขนมีลักษณะสั้นเกรียน สีขาวครีมหรือน้ำตาลอ่อน ผิวหนังสีครีม น้ำตาลอ่อน หลวม ยืดหยุ่น ตะโหนกมีเพียงเล็กน้อย ตั้งอยู่บนกึ่งกลางของสันไหล่ เหนียงคอหย่อนยานพอสมควร นับตั้งแต่ใต้คางไปจนถึงใต้ถึงท้องมีลักษณะเป็นหลืบพับไปพับมาเล็กน้อยและค่อนข้างหนา มีเหนียงติดบริเวณลำคอค่อนข้างมาก หนังสะดือหย่อนยานพอสมควร หนังหุ้มลึงค์ หย่อนยานพอสมควร โคนหางใหญ่และยาว วางได้กึ่งกลางของส่วนท้ายของลำตัว พู่หางมีสีครีมจนถึงน้ำตาลอ่อน

          ลักษณะทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย น้ำหนักแรกเกิด 21-32 กิโลกรัม น้ำหนักหย่านม (ที่อายุ 200 วัน) 185 กิโลกรัม การเจริญเติบโตเมื่อขุน 1,400 กรัม/วัน เพศผู้เมื่อโตเต็มที่หนัก 800 – 1,000 กิโลกรัม เพศเมียเมื่อโตเต็มที่หนัก 500 – 600 กิโลกรัม อายุเมื่อให้ลูกตัวแรก 3 ปี ช่วงห่างการให้ลูก 500 วัน และมีเปอร์เซ็นต์ซาก 60 – 63 เปอร์เซ็นต์

          กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เลี้ยงโคพันธุ์ตาก ได้แก่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก 200 แม่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์ 200 แม่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พิษณุโลก 100 แม่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สุราษฎร์ธานี 50 แม่ และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ประจวบคีรีขันธ์ 25 แม่ รวมผลิตลูกได้ประมาณ 403 ต่อปี ซึ่งหากท่านใดสนใจ ติดต่อขอข้อมูลได้ที่ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทร 0 2501 3142, 0 2653 4444 ต่อ 3213 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์

เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์  ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ