การเลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลดีหรือประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับตัวเกษตรกรเอง ที่ต้องเอาใจใส่ดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี การเลี้ยงสัตว์นอกจากต้องมีพันธุ์สัตว์และสุขภาพสัตว์ที่ดีแล้ว อาหารที่ใช้เลี้ยงนับได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ หลายคนมองว่าการเลี้ยงสัตว์นั้น มีต้นทุนที่สูง ต้นทุนที่เกิดจากอาหารที่สัตว์ต้องกินในแต่ละวัน แต่ถ้าเรามองหาวิธีที่จะช่วยลดต้นทุนได้ และยังสามารถสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง จากการปลูกหญ้าที่ให้คุณค่าทางอาหารมากพอกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละวัน เนื่องจากหญ้าที่ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาตินั้นมีคุณค่าทางอาหารสัตว์ต่ำ ผลผลิตก็น้อย และพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณะนับวันจะน้อยลงไม่เพียงพอที่จะปล่อยสัตว์ไปเลี้ยงเหมือนแต่ก่อน ซึ่งสัตว์จำเป็นต้องกินหญ้าเป็นอาหารหลัก หากท่านลงทุนปลูกหญ้าพันธุ์ดีไว้ในพื้นที่ของตนเอง เช่น บริเวณพื้นที่หัวไร่ปลายนา หรือพื้นที่ว่างเปล่า เพียงครั้งเดียวก็จะมีหญ้าใช้สอยไปได้หลายปีทีเดียว เพราะเป็นแปลงหญ้าคุณภาพดีให้ผลผลิตสูงเพียงพอสำหรับเลี้ยงสัตว์ ไม่ต้องเสียเวลาต้อนไปเลี้ยงไกลๆ อีกต่อไป ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงสัตว์ได้ทางหนึ่ง และหากมีการดูแลหญ้าเป็นอย่างดีให้ได้คุณภาพ ยังสามารถที่จะขายท่อนพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง นับว่าเป็นอาชีพที่จะช่วยพยุงฐานะของครอบครัวให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน

การปลูกพืชอาหารสัตว์ให้ได้ผลดีนั้น มีปัจจัยหลายอย่าง โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชอาหารสัตว์ ได้แก่ ปัจจัยด้านพืช ประกอบด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งควบคุมการเจริญเติบโต พัฒนาการ และการให้ผลผลิต โดยพืชอาหารสัตว์แต่ละสายพันธุ์มีความสามารถในการปรับตัว การให้ผลผลิตและคุณค่าทางอาหาร ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพืชอาหารสัตว์พันธุ์พื้นเมือง สามารถปรับตัวและทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีกว่า พืชอาหารสัตว์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้ว แต่ด้านการให้ผลผลิตและคุณค่าทางอาหารอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของพืชอาหารสัตว์ อาจส่งเสริมหรือขัดขวางการแสดงออกทางด้านพันธุกรรมและลักษณะที่ปรากฏของพืชอาหารสัตว์ ที่มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตและปริมาณผลผลิตพืชอาหารสัตว์ ดังนี้ (1) แสงแดด พืชอาหารสัตว์ต้องการแสงแดดเพื่อใช้ในการสร้างอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง หญ้าอาหารสัตว์เขตร้อนมีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์ด้วยแสงมากกว่าหญ้าเขตหนาว ทั้งนี้ เป็นเพราะความแตกต่างของโครงสร้างภายในพืช วิถีการสังเคราะห์ด้วยแสง และการตอบสนองต่อความเข้มของแสง (2) ความยาวนานของวัน ความยาวนานที่พืชอาหารสัตว์ได้รับแสงสว่างตามธรรมชาติมีอิทธิพลต่อ ระยะเวลาของการให้ผลผลิตทางใบและการผลิตเมล็ดพันธุ์ (3) อุณหภูมิ มีผลต่อการเจริญเติบโตตั้งแต่ เมล็ดงอก การแตกกอ จนกระทั่งการให้ผลผลิตพืชอาหารสัตว์ โดยทั่วไปหญ้าอาหารสัตว์เขตร้อนเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 25-35 องศาเซลเซียส และถั่วอาหารสัตว์เขตร้อนเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส (4) น้ำ ปริมาณน้ำมากหรือน้อยเกินไป จะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของการเจริญเติบโตและองค์ประกอบของผลผลิต นอกจากนี้ น้ำยังช่วยละลายแร่ธาตุอาหารในดิน เพื่อให้รากดูดอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดี (5) สภาพดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินเกี่ยวข้องกับปริมาณธาตุอาหาร โดยทั่วไปพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ค่อนข้างขาดธาตุอาหารอินทรีย์วัตถุต่ำ และความเป็นกรดสูง เกษตรกรจำเป็นต้องมีการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์  และปัจจัยด้านการจัดการ ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักการปลูกพืชทั่วไป โดยเริ่มจากการเตรียมดิน การหว่านเมล็ด การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การให้น้ำจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว เป็นต้น

การปลูกและการดูแลหญ้าเลี้ยงสัตว์ พันธุ์หญ้าที่กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมให้ปลูกมีหญ้าหลายชนิดซึ่งแนะนำให้เกษตรกรเลือกใช้ ตามวิธีการเลี้ยงและสภาพของพื้นที่ ดังนั้นก่อนตัดสินใจปลูกหญ้าชนิดใดควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ และศึกษาสภาพพื้นที่ให้เหมาะสม ดังนี้

  1. สภาพพื้นที่ดอน ไม่มีระบบน้ำ ปล่อยสัตว์แทะเล็ม แนะนำพันธุ์หญ้ารูซี่
  2. สภาพพื้นที่ดอน มีระบบน้ำ ตัดให้สัตว์กิน แนะนำหญ้าเนเปียร์ปากช่อง หญ้าแพงโกล่า หญ้ากินนีสีม่วง
  3. สภาพพื้นที่ลุ่ม มีระบบน้ำ ปล่อยสัตว์แทะเล็ม แนะนำหญ้าแพงโกล่า
  4. สภาพพื้นที่ลุ่ม มีระบบน้ำ ตัดให้สัตว์กิน แนะนำหญ้าแพงโกล่า หญ้าอะตราตัม หญ้าพลิแคทูลั่ม

ช่วงเวลาในการปลูกหญ้าที่เหมาะสมคือ ต้นฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน เพราะดินได้รับน้ำฝน ใหม่ มีความชื้นพอเหมาะต่อการงอกของเมล็ดหญ้า ถ้าปลูกหลังฝนตกผิวดินมีความชื้นจะช่วยให้เมล็ดหญ้างอกได้ดี ภายใน 7-10 วัน และเพียงพอต่อการตั้งตัวของต้นหญ้า หากดินที่ระดับลึก 20 เซนติเมตร ยังแห้งก็ไม่ควรปลูกให้รอฝนตกลงมาอีกรอบ ไม่แนะนำให้ปลูกหญ้าปลายฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกมาก ดินจะฉ่ำน้ำ มีความชื้นสูง เมล็ดอาจเน่าเสีย และเกิดการพังทลายของดิน ทำให้เมล็ดหญ้าถูกน้ำพัดพาไป

การทำแปลงหญ้าแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แปลงหญ้าถาวร เป็นพื้นที่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ต่อเนื่องกันไป ปลูกหญ้าครั้งเดียวดูแลให้ใช้งานไปได้หลายปี เมื่อแปลงหญ้าอายุ 4-5 ปี ก็พรวนดินให้โปร่งขึ้นบ้างเท่านั้น และแปลงหญ้าหมุนเวียน เป็นพื้นที่ดอน ดินเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากปลูกพืชไร่มานาน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น ให้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่นั้นเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นสลับไปปลูกพืชไร่ใหม่จะได้ผลผลิตพืชไร่สูงขึ้น ปลูกได้ 2 ปี แล้วสลับไปปลูกหญ้าหมุนเวียนกันไป ถ้าจะเริ่มปลูกหญ้าให้พิจารณาเลือกวิธีปลูกที่เหมาะสมดังนี้

Ø ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ เป็นวิธีที่สะดวกและประหยัดที่สุด เกษตรกรนิยมใช้ แต่ใช้ได้กับพืชอาหารสัตว์ที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดพันธุ์เท่านั้น เช่น หญ้ารูซี่ หญ้ากินนีสีม่วง หญ้าอะตราตัม เป็นต้น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี คุณภาพของเมล็ดพันธุ์พิจารณาจากการงอก และสิ่งเจือปน เมล็ดที่มีคุณภาพดี มีอัตราการงอกสูง และมีสิ่งเจือปนน้อย ทั้งสองอย่างนี้วัดค่าเป็นส่วนน้อยของปริมาณเมล็ด เมล็ดพันธุ์ที่หมดระยะพักตัวแล้วของหญ้าบางพันธุ์ เช่น กินนี เฮมิล บัฟเฟิล รูซี่ จะไม่งอกหรืองอกน้อยมาก เมล็ดที่ยังไม่สุกเต็มที่ หลังเก็บเกี่ยวต้องการพักตัวระยะหนึ่ง อาจนานตั้งแต่ 4-8 เดือน ควรใช้เมล็ดที่เก็บไว้ข้ามปีแต่ไม่เกินสองปี การเตรียมดิน ต้องไถดะ แล้วเก็บเศษหิน เศษไม้ ออกจากแปลงให้หมดก่อน เสร็จแล้วไถแปรเพื่อปรับพื้นที่ แล้วพรวนดินให้ละเอียด หรืออาจใช้จอบหมุนตีดินก็ได้ ผิวดินที่ละเอียดจะเหมาะกับเมล็ดพันธุ์หญ้าที่มีขนาดเล็ก และการเตรียมดินให้เรียบจะช่วยให้เครื่องจักรที่ลงไปตัดหญ้าทำงานได้สะดวกขึ้น ลดการสึกหรอของเครื่องจักรอีกด้วย การปลูกมีให้เลือก 2 วิธี คือ วิธีโรยเมล็ดเป็นแถว เป็นวิธีที่ดีโดยการวางแผนระยะระหว่างแถวให้เหมาะกับการใช้เครื่องจักรเข้าไปกำจัดวัชพืช เริ่มต้นด้วยการเตรียมหาเมล็ดพันธุ์ไว้ให้พร้อมใช้ไม้ขีดดินเป็นร่องลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร ระยะห่าง 30 – 50 เซนติเมตร โรยเมล็ดตามร่องไม่ต้องกลบเมล็ด  อีกวิธีคือการหว่านเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดแรงงานในการปลูก แต่ต้องหว่านให้เมล็ดกระจายอย่างทั่วถึงวิธีนี้จะได้ต้นหญ้าขึ้นแน่นกว่าการโรยเป็นแถวแต่กำจัดวัชพืชออกยาก อาจต้องใช้วิธีที่เรียกกันว่า “ตัดปรับสภาพ” คือตัดหญ้าครั้งแรกทิ้งไปพร้อมกับวัชพืช ต่อมาหญ้าจะโตไวกว่าและขึ้นคลุมวัชพืชได้ในภายหลัง นอกจากนี้จะต้องไถเตรียมดินเพื่อกำจัดวัชพืชหลายๆ ครั้งก่อนปลูก เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์หญ้าตามอัตราที่กำหนดแล้ว เราไม่ต้องกลบเมล็ดแต่ให้ใช้กิ่งไม้เกลี่ยที่บริเวณผิวดิน ให้เมล็ดหญ้าสัมผัสกับดินได้มากขึ้น ควรเลือกหว่านเมล็ดพันธุ์หญ้าหลังฝนตก หรือในวันที่ดินมีความชุ่มชื้นอยู่พอสมควรจะช่วยให้ต้นหญ้างอกได้เร็วขึ้น

Ø ปลูกด้วยท่อนพันธุ์ หากท่านต้องการปลูกหญ้าชนิดที่ไม่ติดเมล็ดก็จะต้องใช้ท่อนพันธุ์ปลูก เช่น หญ้าแพงโกล่า หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น ให้เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 2 เดือน กรณีปลูกหญ้าเนเปียร์ ไม่ชอบน้ำขัง ให้เลือกปลูกบริเวณที่ดอน หรือทำร่องระบายน้ำไว้ด้วย ตัดลำต้นหญ้าเป็นท่อนๆ ให้มีข้อติดมาด้วย 2 ข้อต่อท่อน นำมาใส่ถุงปุ๋ยเก็บในที่ร่มรดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้ค้างคืน รุ่งเช้านำไปปลูกในแปลง ใช้ระยะระหว่างหลุม 80 x 120 เซนติเมตร ปักท่อนพันธุ์ลงดินให้เอียง 45 องศา ให้ข้อจมลงดิน 1 ข้อ เหยียบดินให้แน่น กรณีปลูกหญ้าแพงโกล่า มีลำต้นเล็กและทนน้ำท่วมขังได้ดี ให้เลือกปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน หากเป็นที่ลุ่มให้เตรียมดินแบบนาหว่านนาตม หว่านท่อนพันธุ์แล้วใช้ผ้าพลาสติกทาบให้ท่อนพันธุ์จมลงไปในน้ำ แช่น้ำทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วปล่อยน้ำทิ้ง รากต้นหญ้าจะยึดดินและแตกยอดอ่อนต่อไป หากปลูกที่ดอนให้ ไถเตรียมดินให้ละเอียดเลือกวันที่ดินมีความชื้นหรือหลังจากฝนตก ให้หว่านท่อนพันธุ์ให้ทั่วแปลงแล้วพรวนดินกลบ

การดูแลรักษาต้นหญ้าให้ได้ผลผลิตมากๆ ปฏิบัติดังนี้

  1. กำจัดวัชพืช หากปล่อยวัชพืชไว้จะแย่งอาหารกับหญ้าที่เราปลูก จึงควรกำจัดวัชพืชหลังปลูก 2 สัปดาห์ จากนั้นต้นหญ้าก็จะเจริญเติบโตคลุมพื้นที่ได้

   - ก่อนปลูกหญ้าควรไถดินกลบวัชพืชก่อน 1 ครั้ง แล้วทิ้งระยะเวลาให้วัชพืชงอกขึ้นมาใหม่จากนั้นไถกลบวัชพืชอีกครั้งเพื่อลดปริมาณวัชพืชลง จากนั้นคราดดินในแปลงให้ดินละเอียดและเรียบเสมอกัน

   - ถ้าปลูกหญ้าเป็นแถวควรพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืชระหว่างแถว จะช่วยให้ต้นหญ้าสมบูรณ์เร็วขึ้น

   - ควรกำจัดวัชพืชในขณะที่ดินแห้ง เพื่อความสะดวกในการทำงานและทำให้วัชพืชตายหมด

   - หลังจากปล่อยสัตว์ลงแทะเล็มแปลงหญ้าแล้ว สัตว์จะเลือกกินแต่หญ้าทำให้เหลือแต่ต้นวัชพืช ฉะนั้นจะต้องหมั่นตัดต้นวัชพืชออกไปจากแปลงอยู่เสมอ ก่อนที่วัชพืชจะออกดอกติดเมล็ด

   - ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในแปลงหญ้า เพราะอาจมีผลตกค้างเป็นอันตรายต่อสัตว์

  1. การใส่ปุ๋ย

    ปุ๋ยคอก ควรใส่ปุ๋ยคอกปีละครั้งประมาณ 2 ตันต่อไร่ หรืออาจใส่น้ำขี้หมูก็ได้ จะช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุลงไปในดิน และทำให้ดินร่วนซุย หญ้าก็จะเจริญเติบโตได้ดี

    ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ในช่วงที่เตรียมดิน และใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) หลังจากตัดหญ้าแล้ว 2 สัปดาห์ อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ควรพิจารณาใส่ปุ๋ยเคมีในช่วงที่หญ้าเริ่มฟื้นตัว และดินมีความชื้นเพียงพอ

การหาซื้อเมล็ดพันธุ์ หน่วยงานราชการที่บริการเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ได้แก่ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ หรือติดต่อ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ มีเมล็ดพันธุ์หญ้าจำหน่าย และบริการแจกท่อนพันธุ์หญ้าให้ฟรี

การปลูกหญ้าอาหารสัตว์นั้น นอกจากจะประหยัดรายจ่ายจากค่าอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงสัตว์ได้ทางหนึ่งแล้ว เราสามารถสร้างรายได้จากการขายท่อนพันธุ์หญ้าพันธุ์ดี แล้วเราจะจนกันได้อย่างไร

 

ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์                                

เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์  ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ