สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภาค ทั้ง 8 แห่ง เป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ที่มีศักยภาพในการตรวจชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า โดยในปี พ.ศ. 2561 มีการรับตัวอย่างหัวสัตว์ทั้งหมด 2,013 ตัวอย่าง พบผลบวกโรคพิษสุนัขบ้า 294 ตัวอย่าง โดยพบผลบวกสูงสุดในจังหวัดร้อยเอ็ด 68 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 23.13 ของตัวอย่างที่ให้ผลบวกทั้งหมด โดยวิธีการตรวจชันสูตรของห้องปฏิบัติการใช้วิธี Direct Fluorescent Antibody (DFA) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2005 ในทุกห้องปฏิบัติการ ซึ่งวิธี DFA เป็นวิธีมาตรฐาน (gold standard) ที่ยอมรับและแนะนำให้ห้องปฏิบัติการตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัสหรือแอนติเจนในเนื้อสมองสัตว์ 

จุดประสงค์หลัก ที่ห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ใช้เนื้อสมองในการชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า คือ เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเดินทางไปยังปมประสาท เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ก่อนจะกระจายไปยังต่อมน้ำลาย ซึ่งเชื้อไม่ได้เดินทางไปต่อมน้ำลายทุกตำแหน่ง โดยการพบเชื้อในน้ำลายอาจจะพบได้ก่อนการแสดงอาการได้ถึง 14 วัน แต่การแพร่เชื้อไวรัสในน้ำลายนั้นเป็นไปแบบครั้งคราว โดยไม่ได้แพร่เชื้อทางน้ำลายทุกวัน วิธี DFA อาศัยปฏิกิริยาของแอนติบอดีที่ติดฉลากด้วยสารเรืองแสงไปจับกับแอนติเจนที่จำเพาะของเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า อ่านผลโดยดูการเรืองแสงของแอนติเจนด้วยกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ วิธี DFA มีความไวและความจำเพาะสูงมาก ประมาณ 99% เมื่อเทียบกับการเพาะแยกเชื้อไวรัส (virus isolation) ปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจแบบ strip test ซึ่งเป็นหลักการ immunochromatographic test ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ใช้เวลารวดเร็ว ใช้น้ำลาย เป็นตัวอย่างส่งตรวจ แต่ทว่าการใช้ชุดตรวจแบบ strip test มีข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้ ปริมาณไวรัสในน้ำลายมีน้อยมากจนอาจไม่สามารถตรวจได้ด้วย strip test ทำให้เกิดผลลบเทียม (false negative) เชื้อไวรัสที่ขับออกมากับน้ำลายไม่สม่ำเสมอในแต่ละวัน โดยอาจพบเชื้อในบางวันและไม่พบเชื้อไวรัสได้ในบางวัน ทำให้ช่วงในการเก็บตัวอย่างน้ำลายเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสมีความสำคัญมาก เพราะอาจส่งผลให้เกิดผลลบหรือตรวจไม่พบเชื้อได้ จึงควรเก็บตัวอย่างน้ำลายทดสอบซ้ำทุกวันควบคู่ไปกับการสังเกตอาการของโรคด้วย  วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำลาย ควรใช้สำลีหรือฟองน้ำซับน้ำลายสัตว์บริเวณลิ้นและข้างแก้ม ค้างไว้ประมาณ 20 วินาที เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำลายมากพอ ซึ่งถ้าสัตว์มีความดุร้ายอาจเกิดอันตรายต่อผู้เก็บตัวอย่าง ผลลบที่เกิดขึ้นจากการใช้ชุดตรวจ strip test อาจเป็นผลลบเทียม ส่งผลต่อความถูกต้องในการวินิจฉัยโรค ดังนั้นการตรวจหาเชื้อไวรัสจากเนื้อสมองจึงยังคงเป็นวิธีที่แนะนำสำหรับใช้ในการตรวจวินิจฉัย เพราะปริมาณไวรัสในสมองจะมากกว่าในน้ำลาย และการตรวจด้วยวิธี DFA จากเนื้อสมอง เมื่อให้ผลลบ สามารถยืนยันได้ว่าผู้สัมผัสน้ำลายสัตว์นั้นไม่ได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า วิธี DFA เป็นวิธีมาตรฐาน (gold standard) ที่ยอมรับจาก WHO และ OIE

            โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคในพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และ พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ตามมาตราที่ 11  เมื่อปรากฏว่าสัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนั้นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่พบว่าสัตว์ควบคุมนั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคในสัตว์และคน ที่ไม่สามารถรักษาหายได้ ทั้งในคนและสัตว์ที่มีอาการจะตายในที่สุด แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยงพบว่าสัตว์เลี้ยงของตนแสดงอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคต่อไป

*********************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์               ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ  ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ

          ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำปาง