โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่ร้ายแรง หากพบอาการป่วยแล้วมักจะตายทุกรายทั้งในคนและสัตว์ เป็นภัยร้ายใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัข แมว รวมทั้งคนที่สัมผัสกับสุนัขและแมวเป็นประจำ โดยปัจจุบันพบผู้เลี้ยงสุนัขแมวส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเลี้ยงสุนัขแมวอยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพราะเลี้ยงดูอย่างดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด จากการสอบสวนโรคของกรมปศุสัตว์พบว่าสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาจากสัตว์ที่ไม่ได้รับวัคซีนและไม่ทราบประวัติวัคซีนถึงร้อยละ 84.17  

                นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 พฤษภาคม 2561 พบโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 967 ตัวอย่าง จากตัวอย่างทั้งหมด 5,706 คิดเป็นร้อยละ 16.95จาก 49 จังหวัด พบสูงสุดใน จังหวัด สุรินทร์ จำนวน 124 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 12.82 ร้อยเอ็ด 93 สงขลา 64 นครราชสีมา 60 และ ยโสธร 54 ตัวอย่าง ตามลำดับ โดยพบโรคพิษสุนัขบ้า ในสุนัข 853 ตัวอย่าง โค 68 ตัวอย่าง แมว 35 ตัวอย่าง กระบือ 6 ตัวอย่าง และอื่นๆ 5 ตัวอย่าง  พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 9 ราย สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ระบบประสาท ถ้าเป็นสุนัขจะแสดงอาการ ดุร้าย กัดแทะสิ่งของ โดยไม่เจ็บปวด ตัวแข็ง กระวนกระวาย เมื่อเข้าสู่ระยะอัมพาต สุนัขจะลิ้นห้อย น้ำลายไหล คล้ายกับมีของติดคอ ลุกไม่ได้ และตายในที่สุด ส่วนในแมวมักหลบในที่มืด และอาการเช่นเดียวกับสุนัข ซึ่งจะสามารถแพร่เชื้อโรคได้นาน 1-7 วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย และตลอดเวลาที่แสดงอาการ โดยจะขับเชื้อโรคออกมาจากน้ำลายจนถึงตายรวมแล้วประมาณ 10 วัน

               นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจังหวัดที่พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าบริเวณจุดเกิดโรคให้ได้คลอบคลุมในสุนัขและแมวทุกตัว และในพื้นที่ห่างจากจุดเกิดโรคให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อย ร้อยละ 80 ของประชากรสุนัขและแมว รวมทั้ง ให้สำรวจและขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวทุกตัวในพื้นที่ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์ทุกพื้นที่ดำเนินการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

              ส่วนจังหวัดยโสธร ที่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ารายล่าสุดนั้น ปศุสัตว์จังหวัดได้ดำเนินการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสุนัขในรัศมี 5 กิโล (8 หมู่บ้าน) ให้ได้ 100% โดยใช้วัคซีนของกรมปศุสัตว์ และเริ่มฉีดตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2561 นี้ ซึ่งจากการสำรวจ มีสุนัข 861 ตัว และแมว 161 ตัว รวมทั้งหมด 1,022 ตัว ในส่วนของประชนให้ฉีดวัคซีนผู้สัมผัสให้ครบ และให้ฉีดวัคซีนทุกรายที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย ที่มาโรงพยาบาล ให้ อสม.เคาะประตูบ้านเพื่อค้นหา ผู้ที่ถูกสุนัข กัด ข่วน เลีย ให้ได้รับวัคซีนทุกคน นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ขอเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวัง หากพบสุนัขตายหรือมีอาการสงสัยป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชน เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าโดยทันที นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวในที่สุด

*******************************************************

 ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                                                             ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ