นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีเปิดการเสวนา เรื่อง “กำหนดแนวทางดำเนินงานภายหลังการตรวจประเมินด้านสุขภาพสัตว์และความปลอดภัยอาหารจากสหภาพยุโรป 2020” สำหรับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรป โดยมี นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวรายงาน ในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

                   นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การนำเข้าสินค้าอาหาร เป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนและมีความเสี่ยงที่เกี่ยวพันกับความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงระบบการผลิตปศุสัตว์ของสหภาพยุโรป การควบคุมด้านสุขภาพสัตว์ (Animal health) ความปลอดภัยอาหาร (Food safety) ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญ และต้องสร้างมาตรฐานในด้านความปลอดภัยอาหารให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความสำคัญนี้สหภาพยุโรปจึงได้กำหนดกรอบนโยบาย กฏระเบียบ ร่วมกับการตรวจประเมินทั้งประเทศสมาชิกและประเทศที่สามอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันภาคการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยไปยังสหภาพยุโรป ถือเป็นกลไกสำคัญ ในการบรรลุเป้าหมายหลัก ที่กรมปศุสัตว์ต้องส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ ที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ของประเทศผู้ส่งออกหลักไปยังสหภาพยุโรป

                รอธ.สมชวน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจประเมินด้านสุขภาพสัตว์และความปลอดภัยอาหาร โดยหน่วยงาน Food and Veterinary Office (FVO) ของสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ 2563 และ 27 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ 2563 ตามลำดับ ผู้ตาวจประเมินได้ให้ข้อสังเกตอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการผลิตสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย ให้สามารถรักษาคุณภาพและความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยอาหาร รวมถึงเป็นประเทศคู่ค้าสำหรับสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญกับสหภาพยุโรปต่อไป ซึ่งการควบคุมด้านสุขภาพสัตว์และความปลอดภัยอาหาร พบว่าประเทศไทยโดยกรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงาน Competent Authority และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป หากเพิ่มความเข้มงวดในส่วนของฟาร์มโดยประยุกต์ใช้แผนควบคุมเชื้อแซลโมเนลลาในสัตว์ปีกฉบับใหม่ (National Salmonella Control Program : NSCP) จะช่วยลดความชุกของเชื้อแซลโมเนลลาในฝูงสัตว์ปีกที่ส่งผลต่อการปนเปื้อนสินค้าในห่วงโซ่การผลิตตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดของระบบการใช้ยาสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันปัญหาด้านยาสัตว์ตกค้าง

               “ การเสวนาครั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับฟังได้รับทราบข้อมูล ความเข้าใจเกี่ยวกับผลการตรวจประเมินและข้อสังเกตจากการตรวจประเมินด้านสุขภาพสัตว์และความปลอดภัยอาหาร ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ข้อคิดเห็นในการดำเนินงานภายหลัง การตรวจประเมินด้านสุขภาพสัตว์ ความปลอดภัยอาหาร รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับกับบริบทแวดล้อมด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับฟังการเสวนาสามารถนำหลักเกณฑ์ แนวทางการดำเนินงานไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัตงานที่เกี่ยวกับระบบการผลิตเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ข้อกำหนด กฎ ระเบียบ พร้อมรับการตรวจประเมินจากสหภาพยุโรปต่อไป ” รองอธิบดีกล่าว               

 

                                                  ************************************************

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม