วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ณ ลานเอนกประสงค์ บริษัทฮอลแลนด์มิลล์ จำกัด ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

         นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงโคนมถือได้ว่าเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรในจังหวัดสระบุรี  ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากโคนมเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างไวต่อผลกระทบที่เปลี่ยนแปลง เช่น ฤดูกาล จึงมีผลทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดโรคระบาดได้ง่าย เมื่อเกิดโรคระบาดแล้วจะนำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งค่ายารักษาโรค ความสูญเสียทางด้านผลผลิตน้ำนม ตลอดจนสูญเสียโคกระบือที่ป่วยตาย ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้เลี้ยงกระบือ ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อย และ สร้างภูมิคุ้มกันโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียให้แก่ โค กระบือ ไม่ให้เกิดการระบาดในอำเภอมวกเหล็กและในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ทางกรมปศุสัตว์ ได้เน้นย้ำให้ 3 จังหวัด ซึ่งเป็นเขตติดต่อ และมีการเลี้ยงโคนมหนาแน่น ได้แก่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดนครราชสีมา ให้รณรงค์ทำวัคซีนในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาดดังกล่าว

          ด้าน นายชาญชัย จุลโลบล ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีมีเกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยง โคนมจำนวน 4,403 ราย โคนมจำนวน 152,163 ตัว ในพื้นที่อำเภอมวกเหล็กมีเกษตรกร 3,964 ราย โคนมจำนวน 131,749 ตัว ถือว่าเป็นอำเภอที่มีการเลี้ยงโคนมสูงสุดในจังหวัด โดยโคนมนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้เลี้ยงเป็นจำนวนมาก แม้การเลี้ยงโคนมจะประสบปัญหาในเรื่องโรคระบาดต่างๆอยู่บ้างก็ตาม โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร  เป็นต้น แต่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อคน ลักษณะเฉพาะของโรคคือ สัตว์ป่วยจะมีไข้สูง มีตุ่มใสที่ปากและเท้า บางตัวอาจมีตุ่มใสที่เต้านม เมื่อตุ่มนี้แตกจะทำให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดอย่างรุนแรง ทั้งนี้ เนื่องจากโคนมเป็นสัตว์เกิดความเครียดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย และประกอบกับการเลี้ยงในพื้นที่อันจำกัด ทำให้สัตว์อยู่รวมกันอย่างแออัด  เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคจะทำให้มีการระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยในโค กระบือ แพะ แกะ นั้น ในโคนมจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกๆ 4 เดือน ในโคเนื้อ กระบือ แพะ และแกะ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกๆ 6 เดือน ส่วนโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย อาการคือ สัตว์จะหายใจลำบาก หายใจตื้นและเร็ว พบฟองออกมาทางจมูกและปาก เยื่อเมือกสีม่วงคล้ำ ไข้สูง 41-42 องศาเซลเซียส บริเวณหัวและคอ จะมีการบวมน้ำบริเวณใต้ผิวหนัง อัตราการป่วยและตายสูง โดยสามารถพบโรคได้ทั้งในโค กระบือ แต่จะรุนแรงมากในกระบือ และสามารถป้องกันได้โดยการทำวัคซีนในโค กระบือที่มีอายุ 4 เดือนขึ้นไป โดยให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีได้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอโดยตลอด การฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือการจัดการที่ดีในการเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค และไม่ให้เกิดการระบาดของโรคต่อไป

          ทั้งนี้ โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีวัตถุเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคระบาด และช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ กรมปศุสัตว์มีนโยบายให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย  และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การรณรงค์ฉีดวัคซีนฯ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทราบ เพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีนที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน ร่วมกับปศุสัตว์เขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สหกรณ์/ศูนย์รับน้ำนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการรณรงค์ (Kick off)  พร้อมกันทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ปศุสัตว์ได้ให้ความรู้เกษตรกรเรื่องโรคและความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกัน และลดปัญหาการเกิดโรคระบาดได้ในที่สุด

                                                    *********************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์              

ข่าว : น.ส.สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ