วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.00 น. นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานโครงการฝึกอบรมหลักสูตร“ พนักงานตรวจเนื้อสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก” รุ่นที่ 1/2564 สำหรับผู้ประกอบการที่ปฏิบัติงานด้านการตรวจเนื้อสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านการตรวจเนื้อสัตว์ รวมถึงเทคนิคและวิทยาการใหม่ในงานด้านสัตวแพทย์สาธารณสุข และรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางกฎระเบียบประเทศผู้นำเข้าและมาตรฐานสากล สามารถนำหลักเกณฑ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานด้านการตรวจเนื้อสัตว์ให้สอดคล้องตามมาตรฐานข้อกำหนดหรือกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า ระหว่างวันที่ 16 – 17 พฤศจิกายน 2563 โดยมีผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 60  คน ณ โรงแรมวินซ์ โฮเทล ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร

          นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมหลักสูตร“ พนักงานตรวจเนื้อสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก” เป็นการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ให้ผู้ประกอบการของโรงฆ่าสัตว์ฯ ได้รับทราบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทิศทางของตลาดโลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในอันดับต้น ๆ ของโลก มีการรักษามาตรฐานการควบคุมกระบวนการผลิตตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าเป็นอย่างดี ทำให้ภาคประชาชนได้บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปลอดภัย สำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะมีทั้งการบรรยาย การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ซักถามและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ถึงระบบการตรวจสอบและควบคุมของภาครัฐ เทคนิคการตรวจสอบด้านสวัสดิภาพสัตว์ เทคนิคการตรวจสัตว์ก่อนฆ่า เทคนิคการตรวจซากสัตว์ภายหลังฆ่า เทคนิคการเก็บตัวอย่างของภาครัฐ หลักการตรวจสอบกระบวนการโหลดสินค้าสินค้าเพื่อการส่งออก และระบบรายงานผลการตรวจสอบและเอกสารควบคุมของภาครัฐ สำหรับโรงฆ่า

          ปัจจุบันการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 จะทำให้รายได้เข้าประเทศมากกว่า 150,000 ล้านบาท ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพและทำรายได้ให้แก่เกษตรหลายแสนราย ตลอดจนสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ภาคการส่งออกของทั้งรัฐและเอกชนต้องแลกมาด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศ
ผู้นำเข้าและมาตรฐานสากล ตลอดจนต้องเผชิญกับมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMS) ซึ่งแตกต่างจากการค้าภายในประเทศ เนื่องจากกระบวนการทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตจำเป็นต้องได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานอาหารที่สูงและปรับปรุงกฎระเบียบและข้อกำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภค ภายในประเทศของตนให้เท่าทันต่อการแปลงของทิศทางตลาดโลก ตัวอย่างมาตรการสำคัญที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด ได้แก่ การควบคุมการผลิตโดยเน้นมาตรการควบคุมระบบความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety System) และการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานในด้านสุขลักษณะการผลิตที่ดีและการจัดทำระบบ GMP และ: HACCP ในโรงงาน รวมถึงความเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบและรับรองของภาครัฐ (Official inspection and certification system) ในฐานะของผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (Competent Authority) เป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์           ข่าว : น.ส.วรรณกร  ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ