วันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการบูรณาการด้านสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ ปีงบประมาณ 2564 สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนเกือบ 300 นาย เพื่อเปิดโอกาสให้เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับทราบปัญหาอุปสรรคในการทำงานในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้ง  นำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไขและวางแผนการดำเนินภารกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสุขภาพสัตว์ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า งานด้านสุขภาพสัตว์เป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากภารกิจหนึ่งของกรมปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบันงานด้านสุขภาพสัตว์มีภารกิจมากขึ้น โดยมีทั้งการส่งเสริม และการปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ ให้สัตว์สุขภาพดี การเฝ้าระวัง ป้องกันโรค และควบคุมโรค และพัฒนาต่อยอดไปจนถึงระดับฟาร์มปลอดโรค และเขตปลอดโรค ซึ่งต้องอาศัยกลยุทธ์ต่างๆในการผลักดันให้มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกัน งานด้านสุขภาพสัตว์ของประเทศไทยได้มีการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก จะเห็นได้ชัดจากผลการประเมินของ OIE PVS รวมถึงการควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และกาฬโรค-แอฟริกาในม้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลงานและฝีมือของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งนี้ งานด้านสุขภาพสัตว์ การเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกัน โรคระบาดจะสำเร็จลุล่วงไปได้ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่รอบด้าน การระดมความคิดเห็น การถอดบทเรียน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำมากำหนดมาตรการ แนวทางการปฏิบัติงาน ผลักดันภารกิจด้านสุขภาพสัตว์ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

ด้าน นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแล และพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทั้งนี้ เพื่อให้ได้สินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ และสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งในทุกกระบวนการผลิตมีมาตรการในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านสุขภาพสัตว์ ตามแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคระบาดสัตว์ และโรคอุบัติใหม่ อันประกอบด้วย การเฝ้าระวังโรค การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การปรับระบบการเลี้ยง การควบคุมโรค การสร้างพื้นที่ปลอดโรค ฟาร์มปลอดโรค รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์ และการเตือนภัยกรณีเกิดโรคระบาด สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและสากล โดยดำเนินการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคที่มีผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน และโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแก้ไขปัญหาสุขภาพสัตว์ทั่วไป ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ และระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามแผนงานด้านสุขภาพสัตว์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้รับบริการ  ที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนเกิดการบูรณาการงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานส่วนภูมิภาค สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ จึงได้จัดให้มีการจัดประชุมสัมมนา การบูรณาการงานด้านสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ ปีงบประมาณ ให้กับนายสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จากสำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ทุกแห่ง จำนวนทั้งสิ้น 284 คน  เพื่อชี้แจงภารกิจแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2564 โดยเน้นการประชุมแบบมีส่วนร่วมระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับทราบปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสามารถนำข้อมูลการปฏิบัติงานจากผู้ปฏิบัติงานจริง มาใช้ในการปรับปรุงแก้ไข และวางแผนการดำเนินภารกิจต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสุขภาพสัตว์ เช่น “การดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ภายในจังหวัด และระหว่างจังหวัด” “การป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยจากผู้มีประสบการณ์ตรง” “การควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทย และการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” “การควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ของประเทศไทย” “การเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ตาม พรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559” “การขึ้นทะเบียนสัตว์ผ่านระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) และแนวทางการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ของกรมปศุสัตว์

**************************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                                                                  ข่าว : เพ็ญศิริ  ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ