กรมปศุสัตว์เชิญชวนเกษตรกรให้หันมาเลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการเนื่องจากแม่ไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ จะใช้ชีวิตตามธรรมชาติ มีการเลี้ยงด้วยอาหารที่ได้จากพืช ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้แม่ไก่อารมณ์ดี มีอายุยืนและผลิตไข่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

          ไข่ไก่ นับว่าเป็นเมนูหลักเมนูหนึ่งของคนไทยทุกครัวเรือน เนื่องจากไข่ไก่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู ราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งไข่ไก่ยังอุดมคุณค่าทางโปรตีนสูง ไข่ไก่ 1 ฟอง ประกอบด้วยโปรตีนสูงถึง 7 กรัม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำต่อวัน ทั้งนี้ไข่ไก่ยังให้ปริมาณแคลอรี่เพียง 75 แคลอรี่ แต่ใครจะรู้ว่าไข่ไก่ที่เราบริโภคทุกวันนั้นมีวิธีการเลี้ยงอย่างไร และการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระทำให้แม่ไก่ผลิตไข่ที่มีคุณภาพและมีรสชาติอร่อยจริงหรือ

          การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ เป็นการเลี้ยงไก่ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นระบบการเลี้ยงที่ปล่อยให้แม่ไก่ออกนอกโรงเรือนได้อย่างอิสระ การเลี้ยงไก่ลักษณะนี้ควรเลือกใช้พันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ไก่ไข่พันธุ์ ได้แก่ ไก่โรดไทย ไก่บาร์ไทยและไก่พลีมัธร็อคไทย ส่วนไก่ไข่พันธุ์ลูกผสม ได้แก่ ไก่ไข่กรมปศุสัตว์1 ซึ่งไก่ไข่ ทั้งสองพันธุ์นี้สามารถหากินได้เองตามธรรมชาติ โดยจะต้องมีพื้นที่ในการเลี้ยงให้อยู่ห่างจากที่อยู่อาศัย อาจเป็นสวนหลังบ้าน สวนผลไม้ สวนป่า หรือบริเวณพื้นที่โล่งที่มีหญ้าปกคลุมโดยพื้นที่นั้นจะต้องไม่ใช้สารเคมีอย่างน้อย 3 ปี และควรตรวจสอบคุณภาพดินว่าปราศจากสารเคมีหรือโลหะหนัก และในส่วนของโรงเรือนหรือพื้นที่ปล่อยเลี้ยงอิสระต้องแยกจากที่พักอาศัยอย่างชัดเจน โดยในโรงเรือนใช้พื้นที่ 0.5 ตารางเมตรต่อตัว โครงสร้างโรงเรือนควรเป็นคอนกรีต มีวัสดุรองพื้นคอกหนา 3-5 นิ้ว และต้องมีรังไข่ 1 ช่องต่อแม่ไก่ 4 ตัว ควรมีประตูเข้าออก 2 ด้าน เพื่อหมุนเวียนปล่อยไก่ออกสู่แปลงอิสระ ส่วนพื้นที่ปล่อยอิสระควรมีบริเวณและมีหญ้าให้กิน 5 ตารางเมตรต่อตัว ในเรื่องของอาหารไก่จะสามารถหากินได้เองตามพื้นดิน พื้นหญ้า โดยอาจจะหาอาหารมาเสริม เช่น ผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดปลอดสาร ต้นกล้วย พืชผักสวนครัวและสมุนไพร อาหารเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติ ทำให้ไก่ไม่เป็นโรคง่ายและมีอายุยืนได้ถึง 3 ปี

          ดังนั้นไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระจะมีสุขภาพที่แข็งแรง อารมณ์ดีและมีความสุข ส่งผลให้ลักษณะของไข่ขาวจะมีสีข้นชัดเจน ส่วนไข่แดงจะมีสีเข้มและนูนเด่น เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารจะมีความหอมมันและรสชาติดี อีกทั้งยังมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าไข่ไก่เชิงอุตสาหกรรมถึง 7 เท่า มีวิตามินอีมากกว่า 3 เท่า และมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าถึง 2 เท่า และนี่ถือเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่หันมาบริโภคไข่จากไก่อารมณ์ดี สำหรับเกษตรกรที่สนใจวิธีการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กลุ่มวิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์ โทร 02-6534444 ต่อ 3213 หรือเว็บไซต์ http://breeding.dld.go.th/th/

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์                                                   เรียบเรียง : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ