ไก่พื้นเมืองมีต้นกำเนิดมาจากไก่ป่า มนุษย์ได้นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน เพื่อกินเนื้อและไข่เป็นอาหาร การวิวัฒนาการของไก่เป็นไปตามวิถีชีวิตมนุษย์และตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือมีโรคระบาดรุนแรง จะมีเหลือให้ขยายพันธุ์ไม่ถึง 10% จำนวนนี้จะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน ตัวที่แข็งแรงทนทานเท่านั้นที่อยู่รอด จึงเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติสืบทอดมาให้ได้ใช้ประโยชน์ ไก่พื้นเมืองมีหลากหลายสายพันธุ์ เนื่องจากวิวัฒนาการของพันธุกรรมได้อาศัยพื้นฐานธรรมชาติเป็นหลัก และทำให้แต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว สามารถขยายพันธุ์ภายใต้สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูของเกษตรกรในชนบท สามารถคุ้ยเขี่ยหากินเองได้ตามธรรมชาติ มนุษย์อาศัยไก่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนและสร้างรายได้ในครัวเรือน ไก่พื้นเมืองจึงเหมาะที่จะทำการอนุรักษ์และพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ต่อไป

ไก่พื้นเมืองมีหลากหลายสายพันธุ์ แยกตามกลุ่มสีของสร้อยและขน โดยสีเหลือง ได้แก่ เหลืองหางขาว เหลืองหางดำ เหลืองเลา ฯลฯ สีประดู่ ได้แก่ ประดู่หางดำ ประดู่เลา ประดู่แดง ประดู่แสมดำ ฯลฯ สีแดง ได้แก่ แดงหางดำ แดงหางขาว แดงหางแดง ฯลฯ สีขาว ได้แก่ ขาวบริสุทธิ์ ขาวมุข ขาวเผือก ฯลฯ สีเขียว ได้แก่ เขียวหางดำ เขียวเลา เขียวไข่กา เขียวแข้ง เขียวตาลาย ฯลฯ สีเทา ได้แก่ เทาหางดำ เทาหางขาว เทาทอง เทาแดง ฯลฯ สีด่าง ได้แก่ ด่างสามสี (ไตรรงค์) ด่างห้าสี (เบญจรงค์) ฯลฯ สีลาย ได้แก่ ลายหางขาว ลายหางดำ ลายนกกระทา ลายกาเหว่า ฯลฯ สีเหลือบ ได้แก่ เหลือบหางดำ เหลือบหางขาว เหลือบสาลิกา ฯลฯ ลักษณะทั่วไปของไก่พื้นเมือง เพศผู้น้ำหนัก 3 กิโลกรัมขึ้นไป เพศเมียน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป รูปทรงสูงระหงส์ จับยาว 2 ท่อน ยืดอก ยกปีก กะโหลกกลมยาว หน้าแหลม ตาเล็กและลึก คิ้วโหนกนูน รูจมูกกว้าง โคนปากใหญ่คล้ายนกแก้ว มีร่องน้ำ หงอนหิน ปลายหงอนกดกระหม่อม ตุ้มหูเล็ก คางรัด คอยาวใหญ่ ปล้องคอถี่ สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก สีเดียวกัน ลำตัวยาว อกใหญ่ไหล่กว้าง หลังกว้างยาวไม่ค่อม ขนพื้นดก เงางาม ปีกใหญ่ ขนดกเต็ม หางยาวดก ทั้งหางพัด หางกะลวย หางรับ ขั้วหางใหญ่คล้ายฟ่อนข้าว มีกล้ามเนื้อมาก แข้งยาวเรียวเล็ก เดือยใหญ่บิดไปตามก้อย เท้า นิ้ว เล็บ สมบูรณ์

กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง โดยให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ ศึกษาวิจัยคุณลักษณะและมาตรฐานสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไก่ประดู่หางดำ ไก่ชี ไก่เหลืองหางขาว ไก่แดง เพราะเป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะไก่ประดู่หางดำ เป็น 1 ใน 4 พันธุ์ ที่กรมปศุสัตว์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมมือกันคัดเลือกพันธุ์ขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 เป็นต้นมา โดยทำการปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ และเมื่อประมาณปีพ.ศ.2549 คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานวิทยาเขตกาฬสินธุ์ ได้ร่วมมือกันปรับปรุงพันธุ์ไก่ประดู่หางดำ โดยปรับปรุงลักษณะที่สำคัญ 3 ลักษณะคือ "โตดี ไข่ดก อกกว้าง" ปัจจุบัน “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก” เป็นผลงานการต่อยอดการวิจัยที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากในด้านผลผลิต “ไข่” จึงเป็นที่มาของการร่วมมือดังกล่าวเพื่อสร้างไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดกให้เกิดขึ้น โดยมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ คือ เพศผู้ มีสร้อยคอสีแดงประดู่ ขนหาง ขนลำตัว แข้ง ปากสีดำ ใบหน้าสีแดงถึงแดงอมดำ เพศเมีย ลักษณะเหมือนเพศผู้ยกเว้นที่ไม่มีขนสร้อยคอ

ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์สามารถขยายพันธุ์และผลิตไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพหลักได้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงและจัดการง่ายในพื้นที่ชนบท แต่มีสมรรถภาพการผลิตเมื่อเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป นอกจากนี้ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ยังเป็นไก่ที่มีขนลำตัวสีดำ ปากสีดำ และแข้งสีดำ ซึ่งเป็นลักษณะภายนอกของไก่พื้นเมืองที่ตลาดส่วนใหญ่ของประเทศต้องการ เพราะแม้ชำแหละไก่แล้ว สีของขนและปากจะหายไป แต่แข้งของไก่สดที่วางจำหน่ายยังคงเป็นสีดำ ทำให้มั่นใจว่าเป็นไก่พื้นเมืองจริง นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองยอดนิยมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมากเพราะมีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านเนื้อและลักษณะภายนอก ทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศ และยังแพร่กระจายพันธุ์ไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในรูปของลูกพันธุ์และไก่ชำแหละ เช่น พม่า เขมร ฯลฯ อีกด้วย

ลักษณะทางเศรษฐกิจ เมื่อเลี้ยงในระบบฟาร์ม พบว่าที่อายุ 12 และ 16 สัปดาห์ เพศผู้มีน้ำหนักตัวเท่ากับ 1,357 บวกลบได้ 108 กรัม และ 1,902 บวกลบได้ 151 กรัม ตามลำดับ เพศเมียมีน้ำหนักตัวเท่ากับ 1,091 บวกลบได้ 84 กรัม และ 1,436 บวกลบได้ 117 กรัม ตามลำดับ มีสมรรถนะการสืบพันธุ์ โดยอัตราการให้ไข่ 147 บวกลบได้ 34 ฟอง/แม่/ปี เมื่ออายุให้ไข่ฟองแรก 188 บวกลบได้ 17 วัน เมื่อเลี้ยงในหมู่บ้านมีสมรรถนะการสืบพันธุ์ คือ อัตราการให้ไข่ 42 บวกลบได้ 16 ฟอง/แม่/ปี ให้ลูกไก่ 29 บวกลบได้ 14 ตัว/แม่/ปี อายุการให้ไข่ฟองแรก 225 บวกลบได้ 23 วัน

ข้อดีของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไทยคือ ลดการนำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศ และยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีในครัวเรือนของเกษตรกร เพิ่มการใช้อาหารที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่ต้องจัดซื้อ เป็นพื้นฐานในการสร้างไข่ไก่ธรรมชาติ และไข่ไก่อินทรีย์ เพื่อรองรับตลาดระดับสูงต่อไป นำไปสู่รายได้ที่มีความยั่งยืนในชนบทตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้นในอนาคต สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

 

*********************************

 

ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์                                                        เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ