“แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล” แพะดำสายพันธุ์บังกลาเทศ ที่ในปัจจุบันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานแก่เกษตรกรและประชาชน เพื่อเลี้ยงเป็นอาชีพ ในโครงการเลี้ยงแพะพระราชทานพันธุ์ “แบล็คเบงกอล” ที่กระจายหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

          ในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุครบ 50 พรรษา เพื่อเป็นการแสดงถึงมิตรภาพและความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศ โดยทรงมีพระกระแสรับสั่งให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการนำแพะเข้าราชอาณาจักรไทย 4 ครั้ง จำนวน 31 ตัว เป็นพ่อพันธุ์ 6 ตัว แม่พันธุ์ 25 ตัว และนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ ในหน่วยงานของกรมปศุสัตว์

          แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เป็นสินค้าส่งออกที่ทำเงินเข้าประเทศอินเดีย บังกลาเทศ และปากีสถานเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูงเป็นที่ต้องการของตลาด ผลผลิตของหนังแพะแบล็คเบงกอล เมื่อเทียบกับหนังสัตว์อื่น ๆ ถือว่ามีข้อดี คือ มีเส้นใยแน่น ไขมันน้อย เส้นขนของแพะจะเอียง แทรกตามใยที่สานกันแน่น ใกล้หนังชั้นนอก ที่เรียกว่า gain ส่วนขนจะเรียงตัวกันเป็นรูปโค้ง ซึ่งจะแตกต่างจากแพะพันธุ์ต่าง ๆ แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล จัดเป็นแพะประเภทพันธุ์เนื้อ ที่ให้หนังแน่นกว่าแพะนมหรือแพะขนซึ่งหนังจะมีลักษณะหลวมอายุของแพะถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลักษณะหนังแตกต่างกันไป เพราะหนังของลูกแพะจะมีขนาดเล็กและบาง มีโครงสร้างเส้นใยละเอียด มีรอยขีดข่วนมากกว่า และเพศของแพะมีผลต่อความหนาของหนังรวมถึงการงอกของขน นอกจากนี้การเลี้ยงดู ให้อาหาร สภาพอากาศ และพยาธิภายนอก ล้วนแต่มีผลต่อลักษณะของหนังทั้งสิ้น ราคาของหนังแพะจะขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ ความหนา โครงสร้าง และการสานของเยื่อใย (gain) ทั้งนี้ขนาดพื้นที่แผ่นหนังของแพะจะขึ้นอยู่กับขนาดของตัวสัตว์ และวิธีการฆ่าที่ถูกต้อง โดยการปล่อยให้เลือดไหลออกจากร่างกายตามกระบวนการ จะทำให้ได้แผ่นหนังที่เสียหายน้อยที่สุด และสามารถนำไปใช้ได้ทั้งผืน

          ลักษณะทั่วไป แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล จะมีขนสีดำหรือสีน้ำตาล รวมถึงสีอื่น ๆ เช่น สีเทาและสีขาว แพะเพศผู้และเพศเมียจะมีเขาเหมือนเช่นเดียวกัน ใบหูมีขนาดเล็ก สั้นและตั้งชี้ไปข้างหน้า แพะพันธุ์แบล็คเบงกอลมีความสูงประมาณ 40 – 60 เซนติเมตร จัดเป็นแพะที่มีขนาดเล็ก มีความสมบูรณ์พันธุ์สูงมาก โดยแพะเพศเมียที่อาศัยอยู่ในฝูง และมีอายุได้ประมาณ 8 – 9 เดือน จะเริ่มเข้าสู่ภาวะการตั้งท้อง มักให้ลูกแฝด 2 – 4 ตัว โดยเฉลี่ย 2 ตัวต่อคอก จึงถือว่าเป็นแพะอีกพันธุ์หนึ่งที่ให้ลูกดก

          การเลี้ยงดูและสุขภาพสัตว์ของแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ถือเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ทนต่อโรคและเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพแวดล้อมของประเทศไทย สามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบปล่อยตามธรรมชาติ แบบขังคอก หรือทั้งแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย สำหรับการเลี้ยงในโรงเรือน แพะแบล็คเบงกอลเป็นสัตว์ที่ชอบพื้นที่สะอาดและแห้ง โรงเรือนควรยกพื้นสูง ช่วยลดปัญหาความชื้นและกลิ่นแอมโมเนียจากมูลแพะ และป้องกันน้ำท่วม ขนาดพื้นที่ภายในโรงเรือนควรมีขนาดประมาณ 1 – 1.5 ตารางเมตรต่อตัว จัดที่กินน้ำและรางอาหารให้เพียงพอกับจำนวนแพะ โดยทั่วไปหากมีจำนวนแพะไม่มาก เกษตรกรสามารถเลี้ยงรวมกันได้ และหากมีการเพิ่มจำนวนแพะมากขึ้น ควรมีการบริหารจัดการคอก โดยการแยกคอกระหว่างแม่แพะที่ตั้งท้องเลี้ยงลูกแพะ กับพ่อพันธุ์ และแพะรุ่นออกจากกัน เพื่อป้องกันการแท้ง และต่อสู้กัน ในส่วนของการควบคุมป้องกันโรค สำหรับโรคปากและเท้าเปื่อย ควรมีการฉีดวัคซีน ปีละ 2 ครั้ง การถ่ายพยาธิปีละ 4 – 6 ครั้ง ลูกแพะที่คลอดใหม่ควรมีการฉีดธาตุเหล็ก ตัวละ 1 ซีซี และการตรวจโรคแพะประจำปี ปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน ได้แก่ โรคบรูเซลโลสีส (Brucellosis) โรคเมลลอยด์ (Melioidosis) และโรค CAE (Caprine Arthritis Encephalitis)

                   ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ดำเนินการ โดยหน่วยงานในสังกัดของกรมปศุสัตว์ ทั้งหมด 10 แห่งดังนี้

                   1. ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์มหาสารคาม

                   2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์อำนาจเจริญ

                   3. งานปศุสัตว์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

                   4. ศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร เขากระปุก จังหวัดเพชรบุรี

                   5. งานปศุสัตว์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร

                   6. งานปศุสัตว์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

                   7. งานปศุสัตว์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

                   8. ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง

                   9. ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นราธิวาส

                   10. ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพการย้ายฝากตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์สัตว์ จังหวัดนครราชสีมา

          หน่วยงานดังกล่าวนี้ จะทำหน้าที่ในการเลี้ยงและขยายพันธุ์แพะแบล็คเบงกอล เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ โครงการเลี้ยงแพะพระราชทานพันธุ์ “แบล็คเบงกอล” ซึ่งรับผิดชอบโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรฯ เพื่อส่งเสริมแก่เกษตรกรที่ขอพระราชทานพันธุ์แพะไว้เลี้ยงเป็นอาชีพต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : กองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ                        เรียบเรียง : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ