จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในหลายจังหวัด โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการกำหนดโซนพื้นที่ในการควบคุมการระบาดตามความเสี่ยงของโรค COVID-19 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ซึ่งกลุ่มก้อนใหญ่ที่พบการแพร่ระบาดของโรคมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าบริโภคด้านปศุสัตว์ได้สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในการบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร และโรงงานชำแหละเนื้อสุกร จ.ปทุมธานี กรมปศุสัตว์ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดในช่วงเวลาดังกล่าว และศึกษารูปแบบการปรับตัวและการจัดการของสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์วิถีใหม่ (New normal) ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 220 แห่ง ในพื้นที่ควบคุมทั้ง 5 จังหวัด

          จากสถานที่จำหน่ายทั้ง 220 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดสด 82 ตัวอย่าง (จากตลาดสด 20 แห่ง) ร้านสะดวกซื้อ 89 ตัวอย่าง และห้างร้านค้าโมเดิร์นเทรด 49 ตัวอย่าง ผลการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในเนื้อสัตว์ทั้ง 220 ตัวอย่าง ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อ COVID-19 ทั้งหมด นอกจากนี้ ได้ศึกษาพบว่า สถานที่จำหน่าย เนื้อสัตว์ทั้งหมด 220 แห่ง มีจุดวางแอลกอฮอลล์หรือเจลล้างมือจำนวน 195 แห่ง มีการเว้นระยะห่างระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายอย่างน้อย 1 เมตร จำนวน 130 แห่ง ผู้ขายมีการสวมหน้ากากอนามัยและสวมถุงมือเพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ จำนวน 201 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดของผู้ขายตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สำหรับผู้ขายบางรายที่ยังขาดความรู้ในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ก็ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงให้ถูกต้อง ซึ่งกรมปศุสัตว์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ครั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนผู้บริโภคเนื้อสัตว์ว่าปลอดโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

          อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ก็ยังขอให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่ปรุงสุก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย อื่นๆ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสวัตถุดิบต่างๆ ที่จะนำมาปรุงเป็นอาหาร ที่สำคัญควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่กรมปศุสัตว์รับรองโดยให้สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ณ สถานที่จำหน่าย ซึ่งผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าเนื้อสัตว์จากร้านที่ได้รับรองปศุสัตว์ OK ปลอดภัย มาจากแหล่งผลิตที่รับรองโดยกรมปศุสัตว์

 

                        ***********************************************************************************

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์กรมปศุสัตว์

เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ