จิ้งหรีด (Cricket) เป็นแมลงปากกัด มีตารวม หนวดยาว ขาคู่หลังมีขนาดใหญ่แข็งแรง กระโดดเก่ง มีลักษณะข้อปล้อง เป็นที่รู้จักของมนุษย์ และนำมาใช้ในการบริโภค เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง (โปรตีน 12.9% ไขมัน 5.5% แคลเซียม 758 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และธาตุเหล็ก 95 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) จิ้งหรีดจึงจัดเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกสำหรับมนุษย์ อาหารสัตว์ หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้

          จิ้งหรีด จัดเป็นแหล่งอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีความต้องการในตลาดสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดอาหารของมนุษย์ หรืออาหารสัตว์ อีกทั้ง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคมากจิ้งหรีดยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ เกษตรกร/ผู้ประกอบการ มีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงเชิงพานิชย์ จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตจิ้งหรีดสู่ตลาดโลก จิ้งหรีดมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่พบในประเทศไทยอย่างแพร่หลายมี 4 ชนิด ดังนี้

ทองดำ (Gryllus bimaculatus De Geer) เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง รูปร่างสั้น หัวกลม หนวดยาว ลำตัวกว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ลำตัวสีดำ ขาดำ มีจุดสีเหลืองบริเวณโคนปีก 2 จุด เหมาะที่จะเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากสีดำเมื่อปรุงอาหารจะดำไม่น่ารับประทาน

ทองแดง (Gryllus testaceus Walker) เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง มีขนาดเท่ากับพันธุ์ทองดำ ขนาดลำตัวยาว 0.25 - 0.35 เซนติเมตร ลักษณะเด่นหัว ลำตัว ขามีสีน้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลเหลืองทอง เหมาะที่จะเป็นอาหารของคน เมื่อทอดจะมีสีเหลืองทองน่ารับประทาน

จิ้งหรีดทองแดงลาย จิ้งหรีดขาว จิ้งหรีดบ้าน แมงสะดิ้ง จิ้งหรีดผี หรือแอ้ด (Acheta domesticus(Linnaeus)) เป็นจิ้งหรีดขนาดเล็กที่สุด ลำตัวสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายจิ้งหรีดทองแดง แต่ขนาดเล็กกว่า ตัวเมียมีปีกคู่หน้าสั้นครึ่งลำตัว ไม่ชอบบิน เคลื่อนไหวไม่เร็วเท่าจิ้งหรีดชนิดอื่น ลำตัวกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ยาว 2.05 เซนติเมตร นิยมเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของคนเช่นกัน แม้เป็นจิ้งหรีดที่มีขนาดเล็ก แต่ให้ไข่เยอะ จึงมีความมันกว่าจิ้งหรีดชนิดอื่น

จิ้งโกร่ง หรือ จิโปม หรือ จี่โป่ง (Brachytrupes portentosus Lichtenstein) เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถรับประทานได้ ลักษณะคล้ายจิ้งหรีด มีขนาดใหญ่ อ้วน สีน้ำตาล ลำตัวกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 3.5 – 4.5 เซนติเมตร ชอบอยู่ในรู หนวดยาว หัวกลมใหญ่ ปากแบบกัดกิน ปีกมีลายเส้นเล็กน้อย นิยมเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของคน เนื่องจากมีตัวขนาดใหญ่กว่าจิ้งหรีด รสชาติอร่อย น่ารับประทาน

          วงจรชีวิตของจิ้งหรีดโดยภาพรวมจะประกอบด้วย จิ้งหรีดระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะตัวเต็มวัย ผสมพันธุ์ และวางไข่ มีอายุตลอดช่วงชีวิตอยู่ที่ประมาณ 90-120 วัน โดยจิ้งหรีดแต่ละระยะจะมีรูปร่างที่แตกต่างกันไป

ระยะไข่ ไข่จิ้งหรีดมีสีเหลือง ยาวเรียวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ความยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร จิ้งหรีดสามารถวางไข่ได้ 600 –1,000 ฟอง โดยวางไข่เป็นรุ่น รุ่นละ 200 – 300 ฟอง แต่ละรุ่นให่างกันประมาณ 15 วัน

ระยะตัวอ่อน หลังจากวางไข่ 3 สัปดาห์ ลูกจิ้งหรีดจะฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนจะคล้ายมด ไม่มีปีก ลอกคราบประมาณ 8 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อน เมื่อโตขึ้นเริ่มมีปีก เรียกว่า ระยะใส่เสื้อกั๊ก

ระยะตัวเต็มวัย เป็นระยะที่สามารถแยกเพศได้ชัดเจน คือ เพศผู้ ปีกคู่หน้าย่น มีหนาม ทาให้เกิดเสียงได้ โดยใช้ปีกคู่หน้าถูกัน ตัวจะเล็กกว่าเพศเมีย เพศเมีย ปีกคู่หน้าเรียบ มีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง

ระยะผสมพันธุ์ จิ้งหรีดผสมพันธุ์ หลังลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย 3-4 วัน เพศผู้ ขยับปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียง เพศเมีย จะขึ้นคร่อมหลังตัวผู้ ระยะเวลาผสมพันธุ์ประมาณ 10-15 นาที เมื่อหมดการวางไข่รุ่นสุดท้ายตัวเมียจะตาย

ระยะวางไข่ จิ้งหรีดเพศเมีย จะวางไข่ 3-4 วันหลังผสม โดยใช้อวัยวะวางไข่ที่ยาวแหลมคล้ายเข็มแทงลงในดินเพื่อวางไข่

          สถานที่เลี้ยง สถานที่ตั้งฟาร์ม/โรงเรือน จะต้องไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด เช่น ขยะโรงงานอุตสาหกรรม สารเคมี ฯลฯ ห้ามมีควันไฟรบกวน และคมนาคมสะดวก โรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีดไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถปรับใช้โรงเรือนที่มีอยู่ได้ โรงเรือนควรแข็งแรง กันแดดกันฝน มีการระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาดง่าย และสามารถป้องกันศัตรูจิ้งหรีดได้ โดยหลังคาควรสูงอย่างน้อย 3 เมตร เพื่อให้อากาศถ่ายเทดี ไม่มีกลิ่น ไม่มีเชื้อโรค

          อุปกรณ์ในการเลี้ยง ประกอบด้วย บ่อเลี้ยง เทปกาว มุ้งเขียว ที่อยู่ของจิ้งหรีด ภาชนะใส่น้ำ ภาชนะใส่อาหาร และภาชนะรองไข่ เป็นต้น

          บ่อเลี้ยง สามารถใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ตามความสะดวก และเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น ถัง กะละมัง หากต้องการเลี้ยงรูปแบบมาตรฐาน ควรสร้างให้ทนทาน ทำความสะอาดง่าย แต่ละบ่อควรมีระยะห่าง อย่างน้อย 50 เซนติเมตร เช่น บ่อซีเมนต์ มีหลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยง และความเหมาะสมของพื้นที่ ขนาดที่นิยม กว้าง*ยาว*สูง คือ 1*3*0.6 เมตร (พื้นที่ 1.8 ตารางเมตร) หรือ 1.6*4*0.6 เมตร (พื้นที่ 3.8 ตารางเมตร) เทปูนที่ก้นบ่อ 1 นิ้ว และต้องทาจารบี หรือน้ำมันที่ฐานบ่อ เพื่อป้องกันมด แมลงเข้าบ่อ ข้อดีของบ่อซีเมนต์ คือ แข็งแรงทนทาน ใช้งานได้นาน ง่ายต่อการทำความสะอาด การให้น้ำให้อาหาร ข้อเสีย ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ บ่อแบบกล่อง  ใช้ไม้อัด หรือกระเบื้องสมาร์ทบอร์ด นิยมขนาด 1.2*2.4*0.6 เมตร (พื้นที่ 1.7 ตารางเมตร) และมีขาสูง 15-20 เซนติเมตร และต้องทาจารบี น้ำมัน หรือลอยน้ำที่ขาบ่อ เพื่อป้องกันมด แมลงเข้าบ่อ ข้อดีของบ่อแบบกล่อง คือ มีความแข็งแรงทนทาน ใช้งานได้นาน ต้นทุนไม่สูงมาก ป้องกันมดได้ดี น้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆได้ตามต้องการ ข้อเสีย ต้องคอยดูแลรักษามากกว่าบ่อปูน

          เทปกาว กว้าง 2-3 นิ้ว ติดขอบบ่อ ป้องกันจิ้งหรีดไต่ออกนอกบ่อ

          มุ้งเขียว สำหรับปิดปากบ่อ ป้องกันจิ้งหรีดบินหนี และศัตรูเข้ามาทำลายจิ้งหรีด มี 2 แบบ คือ ฝาครอบแบบม้วน ฝาครอบแบบปิด แล้วแต่ความสะดวกของผู้เลี้ยง

          ที่อยู่ของจิ้งหรีด ใช้เกาะมุดหลบภัยเวลาลอกคราบ นิยมใช้แผงไข่ที่ทำจากกระดาษ / หญ้าแห้ง / กาบมะพร้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง จะใช้ประมาณ 50% ของพื้นที่ เนื่องจากความหนาแน่นของที่อยู่จิ้งหรีดส่งผลต่อการระบายอากาศภายในบ่อ

          ภาชนะใส่น้ำ ใช้ภาชนะให้น้ำที่สะอาดเหมาะสมกับจำนวนและอายุของจิ้งหรีด ไม่ชำรุด และไม่ทำจากวัสดุที่เป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด ภาชนะให้น้ำมีหลายรูปแบบ เช่น ท่อพีวีซี (PVC) กรีดเป็นร่องปิดหัว-ท้าย อุดด้วยผ้าเพื่อซับน้ำสำหรับจิ้งหรีดดูดกิน หรือจะใช้ภาชนะให้น้ำสำหรับเลี้ยงไก่ ใช้ผ้าหรือฟองน้ำวางในถาด เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดจมน้ำตาย ควรทำความสะอาดผ้าทุกวัน ถาดน้ำควรลึกเพียง 1-1.5 เซนติเมตร

          ภาชนะใส่อาหาร สามารถปรับใช้วัสดุใดก็ได้ ที่ขอบไม่ลึกมากประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร สะอาด มีจำนวนเพียงพอต่อจิ้งหรีด เพื่อให้จิ้งหรีดสามารถเข้าถึงอาหารได้ง่าย

          ภาชนะรองไข่ ภาชนะหรือวัสดุที่ใช้ให้จิ้งหรีดวางไข่ สามารถปรับใช้วัสดุใดก็ได้ที่มีความลึกมากกว่า 5 เซนติเมตร นิยมใช้ขันพลาสติกกลมเป็นภาชนะรองไข่ ขนาดขันเส้นผ่านศูนย์กลาง 16-20 เซนติเมตร

          สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจิ้งหรีดและการให้ผลผลิต เริ่มจากภูมิอากาศ จะต้องมีอุณหภูมิ 25-30 °C จิ้งหรีดจะสามารถกินได้ วางไข่ และเพิ่มประชากรได้อย่างเต็มที่ (ถ้าอุณหภูมิต่ำจิ้งหรีดจะไม่สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้) พื้นที่เลี้ยง จะต้องมีร่มเงา ไม่ตากแดด ตากฝน (ถ้าร้อน, ฝนตกชุกจะไม่ผสมพันธุ์และวางไข่) น้ำที่ใช้เลี้ยง ต้องเป็นน้ำสะอาด (ถ้าไม่สะอาด จะทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้ง่าย) และดินสำหรับการวางไข่ ควรเป็นดินร่วนปนทราย หรือแกลบ (ถ้าเป็นดินแข็ง จิ้งหรีดจะไม่สามารถแทงเข็ม วางไข่ในดินได้)

          ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงความรู้บื้องต้น หากท่านใดมีความสนใจจะเลี้ยงจิ้งหรีดต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้มีมาตรฐาน เพิ่มโอกาสขยายตลาดและส่งออกไปต่างประเทศ

 

ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์

เรียบเรียง : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ