“หมูดำเชียงใหม่” หรือปัจจุบันเรียกว่า “หมูดำกรมปศุสัตว์”  ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ โดยปรับปรุงสายพันธุ์จากสุกรจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สุกรพันธุ์เปียแตรง สุกรพันธุ์พื้นเมือง สุกรพันธุ์ดูรอค สุกรพันธุ์เหมยซาน ลำตัวมีสีดำ มีปริมาณเนื้อแดงมาก ประสิทธิภาพการผลิตดี เลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพการเลี้ยงที่สามารถใช้อาหารคุณภาพต่ำได้ดีเหมือนสุกรพื้นเมือง

ความเป็นมาของสายพันธุ์  เริ่มต้นจากรัฐบาลประเทศเบลเยี่ยมได้น้อมเกล้าถวายสุกรพันธุ์ เปียแตรง จำนวน 16 ตัว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547 เพื่อมอบไว้ใช้ในงานของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ เป็นผู้ทำการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ จากข้อมูลการทดสอบพันธุ์ ได้ข้อมูลเฉลี่ย อัตราการเจริญเติบโต 835.96 ± 131.52 กรัม /วัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 2.09 ± 0.20 ความหนาไขมันสันหลัง 1.12 ± 0.21 เซนติเมตร พื้นที่หน้าตัดเนื้อสัน 37.02 ± 2.79 ตารางเซนติเมตร และปริมาณเนื้อแดง 55.59 ± 0.90 เปอร์เซ็นต์ ด้วยศักยภาพทางพันธุกรรมที่ดีมีเนื้อแดงที่สูงมากดังกล่าว และลำตัวมีจุดดำทั่วตัวของสุกรพันธุ์เปียแตรง ศูนย์วิจัยฯ เชียงใหม่ จึงมีแนวคิดใช้ผสมข้ามพันธุ์เพิ่มปริมาณเนื้อแดงให้สุกรที่มีสีดำ สร้างเป็น “หมูดำเชียงใหม่ ” ที่มีส่วนประกอบของสุกรพันธุ์เปียแตรง สุกรพันธุ์พื้นเมือง สุกรพันธุ์ดูรอค สุกรพันธุ์เหมยซาน เพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกรทั่วไปที่เลี้ยงสุกรตามแนว เศรษฐกิจพอเพียงในท้องถิ่นห่างไกล และชาวไทยภูเขาในเขตพื้นที่สูง พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และโครงการตามพระราชดำริฯ และแนวโน้มการตลาดในปัจจุบันผู้บริโภคหันมาเน้นด้านคุณภาพของเนื้อที่ต้อง นุ่ม ฉ่ำ อร่อย มีกลิ่นหอม รสชาติดี สำหรับตลาดจำเพาะที่ต้องการเนื้อสุกรคุณภาพ จึงเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป

ผู้เลี้ยงจะได้ประโยชน์จากการเลี้ยงหมูดำ คือ ขายลูกหมู และหมูโต พร้อมกับนำเนื้อหมูดำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมูแดดเดียว แหนมหมู และหมูทุบ เป็นการพัฒนาวิธีการผลิตแบบภูมิปัญญาผสมกับนวัตกรรมสมัยใหม่ อีกทั้งยังสามารถนำมูลหมูไปผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อใส่ในต้นพืช ผัก ผลไม้ นำมูลหมูดำไปเลี้ยงไส้เดือน แล้วนำมูลไส้เดือนกับน้ำหมักมูลไปใส่ในนาข้าวเพื่อผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ได้อีกด้วย

********************************************

ข้อมูล : ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ