กรมปศุสัตว์ส่งชุดเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อให้การรักษาช้างพลายโจโจ้ ที่ได้รับสารพิษจากการดื่มน้ำที่ผสมสารยูเรียเพื่อใช้เป็นปุ๋ยรดมันสำปะหลัง จนอาการดีขึ้น จากที่นอนตะแคงข้าง ไม่สามารถยืนได้ จนสามารถยืนได้โดยใช้รถแบคโฮช่วยพยุง และยังคงต้องให้เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์เฝ้าดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการที่เจ้าของช้างพลายโจโจ้ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ค) ว่า พลายโจโจ้ ช้างในความดูแล ได้รับสารพิษจากการดื่มน้ำที่ผสมสารยูเรีย จนช้างล้มนอนคะแคงขวา ไม่สามารถยืน หรือกินน้ำหรืออาหารได้ และได้แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลช้างสุรินทร์แล้วนั้น เรื่องนี้เป็นที่สนใจของสังคมในวงกว้าง ซึ่งเมื่อกรมปศุสัตว์ทราบเรื่องได้ให้สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือพลายโจโจ้ทันที

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ชุดเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติได้ลงพื้นที่ พบว่า ช้างพลายโจโจ้ เพศผู้ อายุ 18 ปี ได้ดื่มน้ำที่ผสมสารยูเรียที่เตรียมไว้เป็นปุ๋ยรดมันสำปะหลังโดยไม่ตั้งใจ โดยเมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. ช้างพลายโจโจ้มีอาการตัวสั่น ล้มตัวลงนอน ไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้เอง และเมื่อเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ชุดเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ เข้าถึงพื้นที่ ช้างพลายโจโจ้อยู่ในอาการนอนคะแคงขวา กล้ามเนื้อเกร็ง สั่น กระตุกทั้งตัว ไม่สามารถยืนได้ อุณหภูมิร่างกายสูง ไวต่อสิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม จึงได้ให้การรักษาเบื้องต้น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาดเช็ดตามบริเวณขาหนีบ และเอาปรกไว้บนลำตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือด ให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ไขสภาวะช็อค หรือยาต้านฤทธิ์ของสารที่คาดว่าจะได้รับตามอาการที่แสดงออก หลังจากนั้นชุดเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ได้เฝ้ารอดูอาการจนเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. ช้างพลายโจโจ้มีอาการดีขึ้น อุณหภูมิร่างกาย การเกร็งกระตุก และสั่นของกล้ามเนื้อลดลง เหลือการกระตุกของปลายงวงบ้างเป็นระยะ

ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 08.00 น. ชุดเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ได้เข้าไปติดตามการรักษาอาการของช้างพลายโจโจ้ พบว่ามีอาการดีขึ้น อุณหภูมิปกติ ไม่มีอาการเกร็งกระตุกหรือสั่นของกล้ามเนื้อ ได้ให้น้ำเกลือ วิตามิน และกลูโคสทางกระแสเลือด รวมทั้งให้ยาอื่นๆ ตามที่แสดงอาการ แล้วเฝ้าดูอาการ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. รถแบคโฮมาถึงจึงทำการยกช้างพลายโจโจ้ขึ้น โดยที่ช้างโจโจ้สามารถยืนได้ด้วยการช่วยพยุง ชุดเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ จึงเดินทางกลับ

กรมปศุสัตว์ได้ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามจัดเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ช่วยดูแลสุขภาพพลายโจโจ้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานหลังจากนี้ ทั้งนี้หากพบช้างแสดงอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุหรือสงสัยว่าจะได้รับสารพิษหรืออาการผิดปกติ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือ อบจ. หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพริเคชัน DLD 4.0 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที.

 

ข้อมูล : กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์

เรียบเรียงและเผยแพร่ : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ กลุ่มเผยแพร่ฯ