นายสัตวแพทย์อภัย  สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ประจำวันที่ 16 มีนาคม 2561 ดังนี้  การฉีดวัคซีนให้แก่สุนัข-แมวซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมปศุสัตว์ ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 8.24 ล้านตัว  เป็นส่วนที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการ จำนวน  23,846 ตัว  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการ จำนวน  63,863 ตัว มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 15 มีนาคม 2561 จำนวน 1,567,730 ตัว ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรคในรัศมี 5 กม.ได้ 80-100 % แล้ว และคาดว่าในช่วงรณรงค์ (มีค.-พค.) จะได้ 80 % ของสุนัข-แมวทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2561)  

                    ในส่วนของกรมปศุสัตว์นั้น มีเป้าหมายที่จะผ่าตัดทำหมันสัตว์ จำนวน  300,000  ตัว ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 11,926 ตัว มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 15  มีนาคม 2561 จำนวน  92,074 ตัว และทำการอบรมอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 2,439 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 17,500 คน มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 15 มีนาคม 2561 จำนวน 18,065 คน ซึ่งเป็นอาสาจากท้องถิ่นละ 1-2 ราย ทำงานร่วมกับ อสม. นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว โดยตั้งเป้าไว้ว่าสุนัขและแมวทุกตัว จำนวน 10 ล้านตัว จะต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 221,597 ตัว และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล การสำรวจสิ้นสุด ณ เดือนกันยายน 2561

                   ด้านสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานมาว่า ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13  ราย ในปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 11 ราย  ในปี 2561 คือระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยหรือเสียชีวิต

                   ส่วนการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ในช่วงมกราคม – 15 มีนาคม 2561 มีการประกาศเขตโรคระบาด โดยยึดตามประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว (อายุ 30 วัน) ดำเนินการควบคุมโรคเป็นจุดๆ ละ 5 กิโลเมตร จำนวน 37 จังหวัด  และยังคงประกาศเขตโรคระบาด 24 จังหวัด

                   อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์มีเหตุผลความจำเป็นในการประกาศเขตโรคระบาด เพื่อสามารถกำหนดพื้นที่ควบคุมในระยะ 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค  ทำให้สามารถระบุชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องควบคุมได้ทุกชนิด  ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามประกาศเว้นแต่ได้รับอนุญาต และสัตวแพทย์สามารถสั่งดำเนินการกับสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยหรือสงสัยว่าเป็นพาหะของโรคระบาดได้ทันที หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 02-6534444 ต่อ 4181                  

*************************************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                                                     ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ  ดวงอุดม  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ