ตามที่ได้มีข่าวว่าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ใช้ในพื้นที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้อาจเป็นสาเหตุให้โรคพิษสุนัขบ้าระบาด กรมปศุสัตว์ขอยืนยันว่า วัคซีนที่ใช้ในพื้นที่ไม่มีวัคซีนที่ตกมาตรฐาน และขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)    

 นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า วัคซีนสำหรับการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2561 เป็นวัคซีนที่มีมาตรฐาน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของอย. ทั้งนี้วัคซีนดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะนำไปใช้พื้นที่ที่มีการเกิดโรค และจุดเสี่ยง ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะดำเนินการฉีดในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่จุดเกิดโรค จึงขอให้มั่นใจได้ว่า วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีจำนวนเพียงพอ​ และมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงของประชาชน

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ ได้มีมาตรการ 2+1 สำหรับควบคุมโรค และหยุดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่ นั่นคือ เมื่อพบโรคโดยมีผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการแล้ว ปศุสัตว์จังหวัดเจ้าของพื้นที่จะดำเนินการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว ตามพรบ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อเร่งรัดกำจัดโรคให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 2 เดือน โดยจะมีการเร่งรัดการควบคุมโรคในทุกพื้นที่ที่เกิดโรค (รัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค) ด้วยการฉีดวัคซีน (ring vaccination) ในสุนัขและแมวให้ครอบคลุมทุกตัวทั้งมีและไม่มีเจ้าของ และในเดือนที่ 3 หลังจากนั้น จะเป็นช่วงการประชาสัมพันธ์​ สร้างความรับรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้า และจะเริ่มต้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เน้นย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่พร้อมจะดำเนินการให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอยู่หลายจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามหลักคำนิยามจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE (Office International des Epizooties) โดยแบ่งเป็นจังหวัดสีเขียว หมายถึง จังหวัดที่ไม่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ไม่น้อยกว่า 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 21 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ลำพูน สุโขทัย บึงกาฬ หนองบัวลำภู สกลนคร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ตราด ชุมพร พังงา ภูเก็ต และนราธิวาส ส่วนจังหวัดสีเหลือง หมายถึง จังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเฉพาะในสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 42 จังหวัด ส่วนจังหวัดสีแดง หมายถึง จังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 14 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ กรุงเทพมหานคร สระแก้ว ตรัง ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งรัดกำจัดโรคอย่างเข้มข้นในขณะนี้ และกรมปศุสัตว์ขอย้ำเตือนว่าเจ้าของสัตว์มีหน้าที่นำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากไม่ปฏิบัติจะมีความผิดตามกฎหมาย อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด  

*******************************************

ข้อมูล / ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์