กรมปศุสัตว์ดำเนินการเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จัดเตรียมเสบียงพืชอาหารสัตว์ และน้ำสะอาด สำหรับปศุสัตว์ พร้อมทั้ง ดูแลโรงเรือน ให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีรู รอยรั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้ฝนสาดเข้าโรงเรือนโดนตัวสัตว์ได้ พร้อมแนะให้ยาบำรุง ดูแล สังเกตสัตว์อย่างใกล้ชิด

                 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เฝ้าระวัง เตือนภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้งให้กับเกษตรกร โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรให้เตรียมความพร้อมรับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทั้งร้อนจัดกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน กับมีลมกระโชกแรง หรือพายุฤดูร้อนในบางแห่งในระยะนี้ ส่งผลให้ปศุสัตว์ อาทิ โค กระบือ อาจได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์มีคุณภาพต่ำ ปริมาณไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ปล่อยให้สัตว์หาอาหารกินเองตามธรรมชาติ อาจทำให้สัตว์ซูบผอม ทรุดโทรม ซึ่งจะทำให้สัตว์อ่อนแอ หรือลูกสัตว์แรกเกิดเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้

                   นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพสัตว์เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนจัด สัตว์จะเกิดความเครียดจากความร้อน (Heat stress) ส่งผลทำให้สุขภาพสัตว์อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้สัตว์ป่วยและติดเชื้อโรคได้ง่าย การดูแลสัตว์จึงเน้นที่การจัดการโรงเรือน และการเลี้ยงสัตว์ที่ดี โดยจัดหาคอกสัตว์ที่บังแดดได้ในเวลากลางวัน หรือเลี้ยงสัตว์ใกล้ต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงา เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ได้รับความร้อนจากแสงแดดโดยตรง นอกจากนี้การลดความเครียดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อม (heat stress) โดยใช้ความเย็นจากละอองน้ำในช่วงกลางวัน หรือติดตั้งพัดลมในโรงเรือน เพื่อให้อากาศหมุนเวียน ถ่ายเทได้สะดวก และควรมีน้ำให้สัตว์กินอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน โดยไม่ควรตั้งที่ให้น้ำไว้ในที่แสงแดดส่องถึง เนื่องจากจะทำให้น้ำอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนของการสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ สัตว์ต้องได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ด้วยการฉีดวัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย(โรคคอบวม) ซึ่งเป็นโรคระบาดที่สำคัญในปศุสัตว์ของประเทศไทย พร้อมทั้งให้สัตว์ได้รับการกำจัดพยาธิทั้งภายในและภายนอก

                    อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่ควรระวังในโค กระบือ ได้แก่ โรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคระบาดที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งของ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เนื่องจากติดต่อได้เร็วและควบคุมให้สงบลงได้ยาก โรคนี้ไม่ทำให้สัตว์ถึงตาย แต่สุขภาพทรุดโทรม ผลผลิตลดลง   โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย(โรคคอบวม) ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดู ดังนั้นเกษตรกรควรทำวัคซีนในลูกโค กระบือเมื่ออายุ 4 เดือน และทำซ้ำทุกปี ส่วนโรคระบาดที่ต้องระวังในระยะนี้ของสัตว์ปีก (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ด) อาทิ โรคฝีดาษ โรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ และโรคระบาดอื่นๆ เพราะสัตว์ปีกมักอ่อนแอกับสภาวะอาการที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ดังนั้นเกษตรกรจึงควรให้การดูแล สังเกตอาการสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด ให้ยาบำรุง และควรให้วัคซีนป้องกันโรคสัตว์ปีกตรงตามกำหนด ในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ควรฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และออกหน่วยผ่าตัดทำหมันให้สุนัขและแมวในพื้นที่

                        “ เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง และที่สำคัญต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่เข้าและออกจากบริเวณฟาร์ม และโรงเรือน เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือใกล้เคียง หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอทันที เพื่อตรวจสอบโดยเร็ว และลดความเสียหายจากโรคระบาด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน หรือหรือแจ้งผ่านสายด่วนแจ้งโรคกรมปศุสัตว์ 063 - 225 – 6888 หรือ www.esmartsur.net หรือ QR code เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว    

 

                                                                      *************************************

ข้อมูล/ข่าว : กลุ่มพัฒนาระบบสุขภาพสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกัน แลบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

เผยแพร่ประชาสัมพันธ์: พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม