กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก แนะนำดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงจากภาวะอากาศแปรปรวนช่วงพายุฝนฟ้าคะนอง ส่งผลให้สัตว์ปีกมีสุขภาพอ่อนแอและอาจเจ็บป่วยได้

             นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ฉบับที่ 17 รายงานว่าบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง กับมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกบางพื้นที่ จึงขอให้เกษตกรในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ปีกมีความเครียดและสุขภาพสัตว์ปีกอ่อนแอ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตไว้ด้วย กอปรกับรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ OIE) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 

ในฟาร์มไก่ไข่ที่ประเทศกัมพูชา กรมปศุสัตว์จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกในระยะนี้อย่างใกล้ชิด โดยเน้นโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดีสามารถป้องกัน ลม ฝนได้ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายสัตว์ มีวัสดุปูรอง พร้อมจัดเก็บอาหารสัตว์ให้มิดชิดไม่ให้โดนความชื้น ตลอดจนจัดเตรียมอาหารสัตว์ให้เพียงพอและผสมวิตามินละลายน้ำให้สัตว์กิน เพื่อลดความเครียดและยังช่วยให้ร่างกายสัตว์ปีกแข็งแรงด้วย

             นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2561 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เร่งค้นหาโรคระบาดในสัตว์ปีก พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อตามพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ที่เลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย พื้นที่ตามแนวชายแดน และพื้นที่นกยพยพ เป็นต้น อีกทั้งกำชับให้ตรวจสอบการลักลอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เข้า-ออก ตามแนวชายแดน ตั้งจุดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณด่านกักสัตว์ที่จุดผ่านแดนและเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกต้องมีใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง”

             ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ของความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก หากผู้ใดพบเห็นการลักลอบหรือพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งอาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านอย่างเร่งด่วน หรือแจ้งผ่านสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 096-301-1946 ที่สำคัญห้ามนำสัตว์ปีกดังกล่าวไปประกอบอาหารหรือทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด ต้องทำลายซากอย่างถูกต้องด้วยการฝังหรือเผา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

*************************************************

ข้อมูล: กลุ่มควบคุมป้องกันโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์