กรมปศุสัตว์ โดย สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ จัดฝึกอบรม “การวิเคราะห์ความเสี่ยงในการนำเข้าเชื้อไวรัสปากและเท้าเปื่อยเข้าพื้นที่ปลอดโรคในภาคตะวันออก” ในระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เพื่อพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 2 ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อกำหนดแนวทางควบคุมความเสี่ยงของการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยภายในจังหวัดและภาพรวมของทั้งภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม ในวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมเจ้าหลาวทอแสงบีช จังหวัดจันทบุรี

นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีนโยบายจัดทำพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยโดยการฉีดวัคซีนในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งดำเนินการมาในระยะเวลาหนึ่ง แต่ในระยะหลังขาดความต่อเนื่องและการขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคในการจัดทำโครงการและจะได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนเป็นรายกิจกรรมต่อไป ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้โครงการดังกล่าวสำเร็จได้ คือ การพัฒนาบุคลากรภายในพื้นที่ให้มีความรู้ ความสามารถเพื่อบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดที่ตนเองรับผิดชอบให้ปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีการจัดโครงการฝึกอบรม“การวิเคราะห์ความเสี่ยง” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 2 จะได้นำความรู้ ในด้านการประเมินความเสี่ยงมาใช้ในการจัดการความเสี่ยงของการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยภายในจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสัตวแพทย์วิริยะ แก้วทอง ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการจัดทำพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศไทยซึ่งได้ดำเนินการมาในระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยกเว้นพื้นที่ปศุสัตว์เขต 2 ยังพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงของการนำเข้าเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย ดังนั้น สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมในครั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 2 ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อกำหนดแนวทางควบคุมความเสี่ยงของการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยภายในจังหวัดและภาพรวมของทั้งภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมจากพื้นที่ปศุสัตว์เขต2 ซึ่งประกอบด้วย นายสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ด่านกักกันสัตว์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก และหน่วยงานส่วนกลาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 คนโดยมีการประชุม 3 วัน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2561

****************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์               ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ