กรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เฝ้าระวังเชื้อราและสารพิษจากเชื้อราในอาหารสัตว์ สืบเนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวนอาจทำให้อาหารสัตว์เปียกชื้นและเน่าเสีย ส่งผลให้เกิดเชื้อราที่ผลิตสารพิษที่เป็นอันตราย แนะนำให้เกษตรกรเก็บอาหารให้ถูกสุขลักษณะและหลีกเลี่ยงการให้อาหารสัตว์ที่มีเชื้อราแก่สัตว์เลี้ยง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ มีความห่วงใยสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร เนื่องจากสภาพอากาศที่บางวันมีแดด และฝนตกหนักอากาศมีความชื้นสูง ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียดประกอบกับในหลายพื้นที่มีการเก็บพืชอาหารสัตว์ด้วยวิธีการกองรวมกัน ส่งผลให้มีเชื้อราจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายได้

หากสัตว์เลี้ยงได้รับสารพิษจากเชื้อราเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเกิดโรคติดเชื้อโรคตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาในกลุ่มทางเดินหายใจ (Bovine respiratory disease complex, BRDC) ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อร่วมกันหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เป็นต้น โดยสารพิษที่เกิดจากเชื้อราที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ สารอะฟลาทอกซิน เกิดจากเชื้อราหลายชนิดแต่ที่พบมาก คือ เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ตับถูกทำลาย โตช้า และ สาร T-2 toxin เกิดจากเชื้อรากลุ่มฟูซาเลียม ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้สัตว์เบื่ออาหาร ท้องร่วง มีอาการตกเลือดในลำไส้

ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายแก่เกษตรกรและสัตว์เลี้ยง เกษตรกรจึงต้องดูแลวิธีการเก็บอาหารให้ถูกสุขลักษณะหากมีเชื้อราขึ้นอาหาร ไม่ควรนำอาหารส่วนที่มีเชื้อรา และบริเวณรอบๆเชื้อราให้สัตว์เลี้ยงกิน

ท้ายที่สุดนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของท่าน หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 02-6534412 ด้วยความปรารถนาดีจาก
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

**********************************************

ข้อมูล / ข่าว : กลุ่มพัฒนาระบบสุขภาพสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์