นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิธีเปิด “Kick Off ไทยนิยม ยั่งยืน ด้านปศุสัตว์” โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน พร้อมลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในโครงการฯ เยี่ยมชมนิทรรศการ รับฟังปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข    วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม 2561 ณ สหกรณ์การเกษตรคงสามัคคี จำกัด อ.คง จ.นครราชสีมา

                นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติไปสู่การปฎิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์ บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ ให้ส่วนราชการ หน่วยงานที่มีหรือจะมีโครงการกิจกรรมลงดำเนินการในพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้าน ซึ่งใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบลเป็นแกนหลัก และให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มีกรอบหลักการในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนประกอบด้วย 9 เรื่อง คือ คนไทยรักกัน ด้วยการสร้างความสามัคคีปรองดอง จัดให้มีการทำสัญญาประชาคม หรือเรียกอย่างอื่นให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเพื่อรับรู้และปฎิบัติตามร่วมกัน คนไทยไม่ทิ้งกัน ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ชุมชนอยู่ดีมีสุข ด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ และรายได้ให้แก่ประชาชน วิถีไทยวิถีพอเพียง ด้วยการส่งเสริมให้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างวินัยการออมในทุกช่วงอายุ รู้สิทธิรู้หน้าที่ ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องสิทธิ หน้าที่ การเป็นพลเมืองที่ดี รู้กลไกการบริหารราชการ ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งกลไกการบริหารราชการแผ่นดินแต่ละระดับ รู้รักประชาธิปไตย ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล รู้เท่าทันเทคโนโลยี ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านโครงการสำคัญ เช่น อินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน บูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

               นครราชสีมาเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านปศุสัตว์มาก และได้ดำเนินกิจกรรมตามกรอบนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมปศุสัตว์ ส่วนนโยบายไทยนิยม ยั่งยืน อาทิ การสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร เมนูพัฒนาทักษะการผสมเทียมโคและแพะ โดยอบรมอาสาปศุสัตว์ด้านการผสมเทียมโคเนื้อและแพะให้เกษตรกรมากถึง 431 ราย สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับความรู้และเทคนิคในการผสมเทียมและใบรับรองผ่านการฝึกอบรมจากสัตวแพทยสภา สามารถนำความรู้ไปให้บริการผสมเทียมโคเนื้อและแพะของเกษตรกร โดยถูกต้องตามระเบียบ/กฎหมาย ซ้ำยังได้รับค่าตอบแทนการเฝ้าระวังคนละ 3,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 4 เดือน เกิดการจ้างงานสร้างรายได้และช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงของพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งได้ฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพด้านปศุสัตว์ 320 ราย และด้านอื่นๆครบถ้วนแล้วเช่นกัน เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้มีการจองพันธุ์สัตว์ ทั้งโค สุกร หรือไก่พื้นเมือง เป็นการจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม

               นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์เป็นองค์การที่นำและขับเคลื่อนการปศุสัตว์ไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในตลาดโลก มีพันธกิจเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมาย การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์ การตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ รวมทั้งการผลิตและขยายพันธุ์สัตว์เพื่อการพัฒนาด้านปศุสัตว์ มีโครงการพัฒนาที่สำคัญ อาทิ โครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโค – กระบือ ภายใต้โครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ฯลฯ โครงการเหล่านี้สร้างอาชีพ รายได้ และความมั่นคงให้แก่เกษตรกร ตรงตามกรอบหลักการของโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในด้านชุมชนอยู่ดีมีสุข พัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ รายได้ และวิถีไทย วิถีพอเพียง

             ทั้งยังได้จัดทำโครงการตามนโยบาย ได้แก่ โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพด้านปศุสัตว์ อำเภอละ 10 ราย 882 อำเภอ รวม 8,820 ราย โครงการศูนย์ขยายพันธุ์และส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์ กิจกรรมขยายพันธุ์สัตว์ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์พันธุ์ดีในศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ 31 แห่ง และจำหน่ายสัตว์พันธุ์ดีให้กับเกษตรกรรายย่อยและเครือข่ายในพื้นที่ 77 จังหวัด โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรมอาสาปศุสัตว์เพื่อการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรรายย่อย โดยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผสมเทียมให้กับอาสาปศุสัตว์ 4,100 ราย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและแพะ โดยอาสาปศุสัตว์ 100,000 ราย ซึ่งทุกกิจกรรมดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

           “ Kick off ครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้มากยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนด้าน ปศุสัตว์ให้มีความเข้มแข็งต่อเนื่อง มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ นิทรรศการและการแสดงนวัตกรรมเกี่ยวกับการผสมเทียม การตรวจท้องโดยวิธีอัลตร้าซาวนด์ การตรวจไขมันแทรกในเนื้อ การใช้วัคซีนป้องกันโรคสัตว์ การสาธิตการผสมเทียมโคเนื้อ การสาธิตทำอาหารสัตว์ TMR (ชาวโคราชร่วมใจ ช่วยเหลือชาวไร่สับปะรดชัยภูมิ) การรับจองสัตว์พันธุ์ดีชนิดต่างๆ ของกรปศุสัตว์ ในราคาเหมาะสม การจัดฐานเรียนรู้ทักษะอาชีพการเลี้ยงสัตว์ การมอบป้ายที่ทำการอาสาพร้อมอุปกรณ์เฝ้าระวังโรค ป้ายสร้างงานสร้างรายได้ มอบกรรมสิทธิลูกโคกระบือ พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเครือข่ายเกษตรกร การทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายลูกโคที่เกิดจากการผสมเทียมกับฟาร์มผู้เลี้ยงโคขุนคุณภาพเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม ” อธิบดีกล่าว   

                       

                                                                  *************************************************

 

ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา กรมปศุสัตว์

ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ   กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม