นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีและโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์มีระบบการรับรองกำกับดูแลฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ และสถานประกอบการผลิตสินค้า  รวมทั้งจุดจำหน่าย ได้แก่ ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์  ให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ดำเนินการตรวจสอบ และติดตามอย่างเข้มงวด มีการสุ่มเก็บตัวอย่างทั้งจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์และสถานประกอบการผลิตสินค้าครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างยาสัตว์และฮอร์โมน ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ที่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 อีกทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงการตรวจอาหารแห่งอาเซียนด้านสารตกค้างยาสัตว์ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับอาเซียนและสากล   

จากข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อสัตว์ปีก ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ตับไก่ และตับเป็ด เพื่อหาสารตกค้างยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน กลุ่มเตตราไซคลิน และกลุ่มเบต้า-แลคเตม ซึ่งอยู่ในแผนการตรวจเฝ้าระวังและแผนการตรวจติดตามสารตกค้างประจำปีตั้งแต่ปี 2550-2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2561) ตรวจวิเคราะห์รวมทั้งสิ้น 4,098 ตัวอย่าง ไม่พบสารตกค้างยาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่ม เกินเกณฑ์มาตรฐาน  นอกจากนี้ สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์มีการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างยาโคลิสติน ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด 206 ตัวอย่าง ไม่พบสารตกค้างดังกล่าวเช่นกัน  ทั้งนี้เทคนิคที่ห้องปฏิบัติการสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ใช้คือ เทคนิค LC-MS/MS ซึ่งมีความแม่นและเที่ยงตรงสูง ผ่านการพิสูจน์ความใช้ได้ของวิธีตามมาตรฐานสากลและมีความสามารถในการตรวจที่ระดับ 1 ส่วนในพันล้านส่วน (part per billion) ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดหลายเท่า

​                      โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะสามารถบริโภคเนื้อสัตว์ปีกได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายจากสารตกค้างยาปฏิชีวนะ อย่าตื่นตระหนกกับข่าวสารต่างๆ และขอแนะนำให้เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากผู้ผลิต ที่มีมาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะมีการเก็บตัวอย่างสินค้า และตรวจสอบเป็นประจำ ดังเช่น สัญญาลักษณ์ Q หรือสัญญาลักษณ์ ปศุสัตว์ OK ที่กรมปศุสัตว์มอบให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีมาตรฐาน เป็นต้น ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็น “สายตรวจปศุสัตว์” หากพบการกระทำผิดเกี่ยวกับภาคปศุสัตว์ สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน แอพพลิเคชั่น “DLD 4.0” เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที

************************************

ข้อมูล/ข่าว : สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์