21 พฤศจิกายน 2561  สัตวแพทย์หญิง ธนิดา หรินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “พนักงานตรวจเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในโรงงาน” แก่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จำนวน 110 คน ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2561 ณ ภูเขางามรีสอร์ท จังหวัดนครนายก
วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจในด้านการตรวจเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเทคนิคและวิทยาการใหม่ในงานด้านสัตวแพทย์สาธารณสุข และรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางกฎระเบียบประเทศผู้นำเข้าและมาตรฐานสากล สามารถนำหลักเกณฑ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้สอดคล้องตามมาตรฐานข้อกำหนดหรือกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งได้แก่ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สอดคล้องกับนโยบายอาหารปลอดภัยของรัฐบาล และเพื่อให้มั่นใจในกระบวนการผลิต ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสินค้าเนื้อสัตว์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก ส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร และนำรายได้เข้าประเทศ ตามนโยบายสนับสนุนการส่งออกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตามที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยอาหาร เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง และทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดวิสัยทัศน์สอดรับกับนโยบายด้วยการเป็น “องค์กรที่นำและขับเคลื่อนการปศุสัตว์ไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในตลาดโลก” และกำหนดหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาการปศุสัตว์ให้เป็นผู้รู้คิด รู้รอบ สั่งสมความเชี่ยวชาญในอาชีพ และมีศักยภาพที่พร้อมรับกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแข็งแกร่ง เพื่อก้าวเข้าสู่การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศและเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้กรมปศุสัตว์ไทยสามารถแข่งขันได้อย่างไร้ขีดจำกัดในเวทีโลก ผ่านการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์ พ.ศ. 2561 – 2565 ซึ่งภาคการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ถือเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายหลักขององค์กรและประเทศไทยที่กรมปศุสัตว์จำเป็นต้องส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ย้อนหลัง 10 ปี (พ.ศ. 2550 – 2560) มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10.7 ในแต่ละปีจากการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2561 จะทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 120,000 ล้านบาท อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและทำรายได้ให้แก่เกษตรกรหลายแสนราย ตลอดจนสามารถสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ภาคการส่งออกของทั้งรัฐและเอกชนต้องแลกมาด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า และมาตรฐานสากล ตลอดจนต้องเผชิญกับมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) ซึ่งแตกต่างจากการค้าภายในประเทศ กระบวนการทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตจำเป็นต้องได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานอาหารที่สูงและปรับปรุงกฎระเบียบและข้อกำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศของตนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของทิศทางตลาดโลก ตัวอย่างมาตรการสำคัญที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด ได้แก่ สวัสดิภาพสัตว์ที่ดีตั้งแต่การเลี้ยง การขนส่ง จนถึงการฆ่าอย่างไม่ทรมาน การควบคุมการผลิตโดยเน้นมาตรการควบคุมระบบความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety System) ตลอดจนการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานในด้านสุขลักษณะการผลิตที่ดีและการจัดทำระบบ GMP และ HACCP ในโรงงาน รวมถึงความเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบและรับรองของภาครัฐ (Official inspection and certification system) ในฐานะของผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (Competent Authority) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศผู้นำเข้าอย่างกลุ่มสหภาพยุโรปที่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายใหญ่เกี่ยวกับการตรวจสอบและควบคุมของหน่วยงาน Competent Authority ตามกฎระเบียบ Regulation (EU) 2017/625 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2562 ดังนั้น เพื่อให้บุคลากรของกรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเพื่อให้ประเทศไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในอันดับต้น ๆ ของโลก และรักษามาตรฐานการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า รวมทั้งให้ประชาชนได้บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปลอดภัย