การคัดเลือกสถาบันเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2563 ที่ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ คือ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านคำแม่นาง-สามแยก ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 206 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองซน อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม จัดตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 มีสมาชิกแรกตั้ง 50 คน สมาชิกปัจจุบัน 165 คน โดยมีนายทวี สีชมพู เป็นประธาน

          นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเนื้อ บ้านแม่นาง - สามแยก เริ่มต้นมาจากการที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาทม ได้เข้ามาชี้แจงและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มธนาคารโค - กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยหลังจากนั้นจึงได้เกิดแนวคิดใหม่ที่จะตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อขึ้น เนื่องจากเกิดปัญหาในการหาซื้อมูลสัตว์ของโคและกระบือที่จะนำมาทำปุ๋ย จึงได้ทำการจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และเข้าร่วมโครงการธนาคารโค - กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีนายคำเฝือ เชียงขวาง เป็นประธานโคเพศเมียจากโครงการจำนวน 50 ตัว และหลังจากนั้นจึงได้เข้าร่วมโครงการนครพนมแหล่งโคเนื้อลุ่มน้ำโขง งบพัฒนาจังหวัด โดยมี นายทวี สีชมพู เป็นประธานกลุ่มจนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเป็นสมาชิกจำนวน 165 คน มีแม่พันธุ์โคเนื้อ 409 ตัวและเงินกองทุนอีกจำนวน 1,854,422 บาท

          กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านคำแม่นาง – สามแยก มีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้ 1. มีระเบียบข้อบังคับ โดยใช้มติที่ประชุมของสมาชิกซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญที่ใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม และทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งยั่งยืน และมีข้อบังคับของกลุ่มตามโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ 2. มีคณะกรรมการบริหาร จำนวน 15 คน โดยแต่ละฝ่ายมีการแบ่งความรับผิดชอบตามความถนัดของแต่ละบุคคล มีคณะกรรมการที่ปรึกษา จำนวน 6 คน และมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน จำนวน 12 หน่วยงาน 3. มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่ม เพื่อเลี้ยงโคแม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกโคจำหน่ายโดยการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียม แม่โคได้รับการพัฒนาพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการผสมเทียม โดยในปี พ.ศ.2562 ผสมเทียมแม่พันธุ์ 400 ตัว ได้ครบทุกตัว (คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์) แบ่งออกเป็น 3 เกรด A, B และ C ได้แก่ เกรด A (โคพันธุ์ดีมาก) หมายถึง โคลูกผสมพันธุ์บรามันห์ สายเลือด 50% ขึ้นไป มีโครงร่างใหญ่ เหมาะสำหรับการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อชาร์โลเร่ย์ เกรด B (โคพันธุ์ดี) หมายถึง โคพันธุ์ลูกผสมบรามันห์ สายเลือด 50% ขึ้นไป มีโครงร่างปานกลาง ควรที่ผสมปรับปรุงด้วยพันธุ์บรามันห์ และเกรด C (โคพันธุ์) หมายถึง โคพันธุ์ลูกผสมบรามันห์หรือพื้นเมืองที่มีขนาด และโครงร่างเล็ก

          การแบ่งปันผลกำไรจากการเลี้ยงโคขุน กลุ่มมีการบริหารจัดการในการเลี้ยงโคเนื้ออย่างเป็นระบบ จัดสรรผลกำไรจากการเลี้ยงโคเนื้อโดยกลุ่มมีมติในการจัดสรร ดังนี้ สมาชิกผู้เลี้ยงโคร้อยละ 60 สมาชิกผู้ถือหุ้นร้อยละ 30 และจัดสรรเข้ากลุ่มร้อยละ 10 ส่วนของการจัดการด้านการตลาด ในกลุ่มมีการบริหารจัดการด้านการตลาด คือ ตลาดโคเนื้อคุณภาพสูง ตลาดโคเนื้อต่างประเทศ และตลาดทั่วไป มีการผลิตอาหารสัตว์ใช้เองและจำหน่าย สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชอาหารสัตว์ การผลิตอาหารครบส่วน (TMR) การสำรองฟางอัดฟ่อนใช้เองและจำหน่ายให้กับสมาชิก สมาชิกปลูกหญ้าปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เพื่อใช้เลี้ยงโคเนื้อและได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมอาหารครบส่วน (TMR) จากงบพัฒนากลุ่มจังหวัด ปี พ.ศ.2560 การสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคให้กับเกษตรกร โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ ผู้เลี้ยงโคขุน กลุ่มได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โดยกลุ่มเป็นผู้กำหนดและวางแผนในการขุนเนื้อโค ไม่มีข้อผูกมัดกับบริษัทและแผนการดำเนินงานปี พ.ศ.2563 โดยการส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินการผลิตแม่พันธุ์โคพันธุดี เกรด A เพิ่มมากขึ้น โดยใช้วิธีการผสมเทียมใช้น้ำเชื้อสายพันธุ์บรามันห์ การปลูกพืชอาหารสัตว์ให้ครบทุกรายๆ ละอย่างน้อย 1 ไร่ การผลิตอาหาร TMR เพื่อใช้เองและจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จำนวน 20 ตัน การผลิตฟางอัดฟ่อนเพื่อใช้เลี้ยงโคขุนของกลุ่มและจำหน่ายให้สมาชิก จำนวน 11,000 ฟ่อน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้สมาชิกและกลุ่มเกษตรกร จำนวน 15,000 กิโลกรัม และการเลี้ยงโคขุนคอกกลองเพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่ม จำนวน 18 ตัว

          บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน โดยสมาชิกจะเข้าร่วมประชุมเป็นประจำทุกเดือนและมีการประชุมตามที่ประธานกลุ่มมีเรื่องด่วนที่จะแจ้ง เข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อให้สมาชิกได้พิจารณาผลและแผนการปฏิบัติงาน ตรวจสอบ กำกับดูแลเอกสารหลักฐานการบัญชี ร่วมพิจารณาปรับเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับให้เกิดความเหมาะสมต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยใช้มติที่ประชุม 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม ตลอดจนรับทราบประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความร่วมมือของสมาชิกทำให้มีความเอื้ออาทรคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำกิจกรรมการเลี้ยงโคเนื้อ การปรับปรุงพันธุ์ การตลาด และการจำหน่ายของสมาชิกกลุ่ม ซึ่งมีกิจกรรมที่กลุ่มและสมาชิกมีบทบาทและการมีส่วนร่วม จำนวน 9 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 การตลาดโคเนื้อ ให้ความช่วยเหลือสมาชิกในการให้ความรู้ การซื้อ การขายโค ติดต่อประสานงานกับตลาดท้องถิ่น รวมทั้งจัดตั้งคอกกลางของกลุ่มในการเลี้ยงโคจำหน่ายให้ตลาดที่มีการทำข้อตกลงการซื้อขายล่วงหน้า กิจกรรมที่ 2 การเลี้ยงโคขุน มีการบริหารจัดการเลี้ยงโคขุน (คอกกลาง) โดยใช้เงินหุ้นและกู้ยืมจาก ธกส. นำไปซื้อโคให้สมาชิกร่วมกันเลี้ยง กิจกรรมที่ 3 การปลูกพืชอาหารสัตว์ ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชอาหารสัตว์ใช้สำหรับเลี้ยงโคเนื้อ กิจกรรมที่ 4 ฟางอัดฟ่อน เพื่อเก็บรวบรวมฟางไว้เลี้ยงโคเนื้อของตนเองตามศักยภาพที่เก็บได้และขอรับบริการเครื่องอัดฟางจากกลุ่มในการอัดฟาง โดยการอัดฟางจำหน่ายให้สมาชิกก้อนละ 15 บาท และบุคคลทั่วไป กิจกรรมที่ 5 มันหมักยีสต์ ถ่ายทอดความรู้การหมักยีสต์ให้สมาชิก ได้ใช้อาหารวัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์ต้นทุนต่ำ กิจกรรมที่ 6 การผลิตอาหารครบส่วน (TMR) ให้สมาชิกเรียนรู้การทำอาหาร TMR เพื่อใช้เลี้ยงโคของตนเอง กิจกรรมที่ 7 การตั้งกองทุนยาสัตว์ เพื่อพัฒนาสุขภาพสัตว์ของสมาชิกเบื้องต้น กิจกรรมที่ 8 โครงการธนาคารโค – กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ สมาชิกที่รับสัตว์ ธคก. ยึดถือและต้องปฏิบัติตามระเบียบ ธคก. อย่างเคร่งครัด กิจกรรมที่ 9 การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่งเสริมให้สมาชิกใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาสุขภาพของสมาชิก นอกจากนี้ กลุ่มฯ มีกิจกรรมการพัฒนาสมาชิกโดยการส่งไปเข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในที่ต่าง ๆ เช่น การศึกษาดูงานการปลูกหญ้าเนเปียร์ การเลี้ยงโคขุน การตลาด เป็นต้น

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านคำแม่นาง-สามแยก ได้ยึดถือและปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่มอย่างเคร่งครัด โดยการบริหารจัดการของคณะกรรมการที่มีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของสมาชิก ทำให้กลุ่มมีความมั่นคง จำนวนปศุสัตว์เพิ่มขึ้น เงินหุ้น เงินกองทุน ตลอดจนทรัพย์สินของกลุ่มเพิ่มมากขึ้นโดยมี กองทุนของกลุ่ม ประกอบด้วย เงินกู้ยืม ธกส. / กำไรจากการขายโคเนื้อ / กองทุนปุ๋ยอินทรีย์ / กองทุนปุ๋ยอัดฟ่อน / กองทุนยาสัตว์ / กองทุนมันหมักยีสต์ และกองทุนอาหาร TMR และทรัพย์สินของกลุ่ม ประกอบด้วย อาคารที่ทำการกลุ่ม / คอกโคขุน / โคขุน / โคแม่พันธุ์ / โกดังเก็บสำรอง-อาหาร / โรงผลิตปุ๋ย / เครื่องจักรผลิตปุ๋ย / ยุ้งข้าว / เครื่องอัดฟางขนาดเล็ก / เครื่องอัดฟางขนาดใหญ่ / เครื่องหั่นพืชสด / บ่อมันหมักยีสต์ / บ่อน้ำบาดาล / และถังใส่น้ำเชื้อ-แช่แข็ง

          กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มได้ร่วมกับหน่วยงานเกษตรจังหวัดนครพนม องค์การบริหารส่วนตำบล และชุมชน จัดงานประเพณีร่วมกันลงแขกดำนาทุกปีสมาชิกกลุ่มร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนของตนเองในเทศกาลวันสำคัญทุกปี ร่วมกับหน่วยงานเกษตรจังหวัดนครพนม ในการใช้สารปรับปรุงดินทำให้ผลผลิตทางการเกษตร มีความปลอดภัยต่อชุมชนท้องถิ่น สมาชิกกลุ่มร่วมกับ อบต.หนองซน ในการใช้เครื่องอัดฟาง เก็บฟางอัดฟ่อน ไม่ให้เกษตรกรเผาฟางในไร่นา ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมความสามัคคีและการเสียสละร่วมกัน ในการก่อสร้างคอกโคขุนของกลุ่มและลดการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรโดยใช้ปุ๋ยคอก สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4444 ต่อ 2271

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์                              

ข่าว : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ