วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00 น. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่แพะอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย   กรมปศุสัตว์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลักให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวบรวมผลผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค โดยมีนายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ปศุสัตว์เขต 8 นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์  นายปัญญา แววดี  ปศุสัตว์จังหวัดกระบี่  พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และร่วมติดตามคณะลงพื้นที่รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายต่อไป  ณ  แปลงใหญ่แพะอำเภอเหนือคลอง ตำบลเหนือคลอง  อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

                     นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพการเลี้ยงแพะเป็นรายได้เสริมโดยพื้นฐาน เพื่อใช้ประกอบการทำอาหาร ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ขายแพะมีชีวิต พร้อมซากเพื่อผลิตแปรรูปจำหน่าย และเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมบริโภคเนื้อแพะอยู่แล้ว สำหรับแปลงใหญ่แพะเหนือคลอง กรมปศุสัตว์จัดตั้งเมื่อ ปี 2563 สมาชิกได้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมการเลี้ยงแพะ และจดทะเบียนกลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ทั้งหมด 12 กลุ่ม หลังจากนั้นได้มีการรวบรวมกลุมจดทะเบียนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่แพะเหนือคลอง มีพื้นที่การเลี้ยงแพะประมาณ 250 ไร่ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 150 ราย

                    ปี 2564  แปลงใหญ่แพะอำเภอเหนือคลอง ได้รับอนุมัติโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ระดับจังหวัดกระบี่ ได้รับงบประมาณ 2,999,500 บาท ใช้ในการสร้างโรงเรือนซื้อพ่อ-แม่พันธุ์แพะ และปัจจัยการผลิต เพื่อเป็นการต่อยอดกิจกรรมที่ทางกลุ่มแปลงใหญ่ดำเนินการอยู่แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสมและสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาภาคเกษตรกรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าตั้งแต่การผลิต การแปรรูปจนถึงการตลาด เพื่อบ่มเพาะเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดแก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรต้นแบบเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และเป็นกลไกในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการเกษตรกรในระดับพื้นที่ ทั้งยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สร้างแบรนด์ให้กับสินค้าอัตลักษณ์ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากความหลากหมายทางชีวภาพ ส่งเสริมสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพทางด้านการตลาดในอนาคตร ทั้งสินค้าอาหารอนาคต (Future Food) และสินค้าเกษตรที่ตลอดสนองผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (Functional Food) รวมทั้งสินค้าเกษตรเพื่อพลังงานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

                    ด้านนายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลักให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน รวบรวมผลผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค การลดต้นทุนการผลิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านปศุสัตว์ รวมทั้งได้มีการอบรมให้ความรู้ การวางระบบการผลิตและการบริการ การประหยัดลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพโดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิต จำหน่าย และการบริหารจัดการรวมกัน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการแข่งขันให้แก่เกษตรกร ตลอดจนนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักกลการเกษตรด้านปศุสัตว์มาใช้ในการจัดการกลุ่ม และการปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค การเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ผลผลิตปศุสัตว์มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยในอนาคตมีแผนยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่เชื่อมโยงตลาด เฟส 2 และผลักดันกลุ่มเข้าสู่มาตรฐาน Good Agricltural Practices (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เข้าสู่มาตรฐานสากล และขยายเครือข่ายให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

                                                     -----------------------------------------------------------

ข้อมูล/ข่าว : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์  กรมปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์  :  น.ส.จิราภรณ์ เกตุบูรณะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  สำนักงานเลขานุการกรม