วันพุธที่ 1 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting) โดยมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม และผู้เข้าร่วมประชุมจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร กรมหม่อนไหม กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้าภายใน สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค มหาวิทยาลัยนเรศวร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ณ ห้องประชุม สพส. ชั้น 3 ตึกวิจิตรพาหนการ กรมปศุสัตว์ พญาไท ซึ่งในที่ประชุมมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์ โดยมีมติรับทราบรายงานข้อหารือแนวทางการบังคับใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (GAP) และมีมติเห็นชอบต่อเรื่องเพื่อพิจารณา ดังนี้

1. ร่างกฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มสุกรเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. ... (เดิมเป็นมาตรฐานทั่วไป) โดยการบังคับใช้สำหรับมาตรฐานดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะตามขนาดการเลี้ยงหมู ได้แก่ 1) หมูขุนตั้งแต่ 1,500 ตัวขึ้นไปหรือสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 90 วันหลังประกาศราชกิจจาฯ และ 2) หมูขุนตั้งแต่ 500-1,499 ตัวหรือสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 95-119 ตัว ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 180 วัน ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงจำนวนหมูต่ำกว่านั้นลงมายังไม่บังคับ แต่เกษตรกรเองก็สามารถยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ได้ รวมทั้งไม่ได้บังคับฟาร์มสุกรที่รับรองด้วยมาตรฐาน มกษ. 9000 เรื่อง เกษตรอินทรีย์ หรือฟาร์มสุกรที่ได้รับการรับรองฟาร์มเลี้ยงหมูหลุมจากกรมปศุสัตว์

2. ยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร (ให้เป็นมาตรฐานทั่วไป) จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

    - การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค เพื่อให้ครอบคลุมสัตว์เพื่อการบริโภคทุกชนิดที่ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานไว้เป็นการเฉพาะสำหรับชนิดสัตว์นั้นๆ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานระบบการผลิตขั้นพื้นฐานสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค

    - หลักปฏิบัติสำหรับการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์ เพื่อให้มีการดำเนินการตาม Global Action Plan on Antimicrobial Resistance และลดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาผ่านทางอาหาร ใช้ประกอบกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยและแผนการปฏิบัติการระดับโลกได้

    - หลักการด้านสวัสดิภาพ: ระบบการผลิตสุกร เพื่อพิจารณากำหนดมาตรฐาน ให้เป็นแนวทางสำหรับเกษตรกรในการปฏิบัติแล้วส่งเสริมสวัสดิภาพสุกรในฟาร์ม เพื่อให้ทั้งผู้บริโภคภายในและภายนอกประเทศเกิดความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานการผลิตสุกรของไทยที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์

    - การแสดงฉลากสินค้าเกษตร โดยครอบคลุมการแสดงฉลากสินค้าเกษตรทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ซึ่งบรรจุในหีบห่อสำหรับผู้บริโภค หรืออยู่ในภาชนะบรรจุที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค โดยไม่ครอบคลุมการแสดงฉลากของสินค้าเกษตรในรูปแบบบัลก์ (Bulk)

3. การปรับปรุงคำสั่งคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์สำหรับประเทศไทย พ.ศ. ... เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์สำหรับประเทศไทย (Thailand Rapid Alert System for Food and Feed: THRASFF) และระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียน (ASEAN Rapid Alert System for Food and Feed: ARASFF)

 

ข้อมูล /เรียบเรียง : ทีมงานโฆษกกรมปศุสัตว์