วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีผู้บริหารกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ “โนรู” ส่งผลให้เกิดอุทกภัยเป็นวงกว้าง เกิดผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรในหลายพื้นที่ จนทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง บางพื้นที่มีการอพยพสัตว์เลี้ยงไปบนพื้นที่สูงที่มีความปลอดภัย มีสัตว์เจ็บป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ระดมสรรพกำลังออกไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านการอพยพสัตว์ เสบียงสัตว์ตลอดจนการรักษาพยาบาลสัตว์ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดความเสียหายให้กับเกษตรกร และได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สามารถลดทอนความเสียหายและบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างมาก ทำให้กรมปศุสัตว์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินงาน “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และเป็นเกียรติภูมิอันสูงยิ่งของพี่น้องชาวกรมปศุสัตว์ จากการติดตามงานทางช่องทางต่างๆ ทำให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ทุกส่วนงานของกรม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มีความตั้งใจ และทุ่มเทในการปฏิบัติภาระกิจดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง เป็นที่ประจักรและสร้างความพึงพอใจแก่พี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก

ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ “พายุโนรู” กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วทั้ง 21 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก สุโขทัย กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชัยนาท ซึ่งเป็นเกษตรกรจำนวน 22,532 ราย และได้ให้ความช่วยเหลือในการอพยพสัตว์ที่ได้รับผลกระทบแล้ว เป็นจำนวน 2,258,675 ตัว แบ่งเป็น โค 66,085 ตัว กระบือ 13,750 ตัว สุกร 5,284 ตัว แพะ/แกะ 7,355 ตัว สัตว์ปีก 2,166,201 ตัว ได้สนับสนุนเสบียงสัตว์ ไปแล้ว 1,057,270 กิโลกรัม สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 30,625 ชุด รักษาสัตว์ 1,693 ตัว และถุงยังชีพสัตว์ 2,804 ถุง ปัจจุบันสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ คงเหลืออยู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลือเพียง 17 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย พิษณุโลก และชัยนาท

การประเมินสถานการณ์ประเทศไทย จากอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงเดือนตุลาคมจะมีลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก กำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และพายุไต้ฝุ่น “เนสาท” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ส่งผลให้อาจเกิดอุทกภัยในวงกว้าง และกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรในหลายพื้นที่ จนทำให้เกษตรกรมีความเดือดร้อน ขาดแคลนอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดพายุโนรู กรมปศุสัตว์ได้เล็งเห็นถึงความรวดเร็ว ความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานในพื้นที่ภาคใต้ ให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติ ในการให้ความช่วยเหลือด้านเสบียงอาหารสัตว์ รวมทั้งแร่ธาตุ และเวชภัณฑ์แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ โดยให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ศวอ.เพชรบุรี / ศวอ.ประจวบคีรีขันธ์ / ศวอ.กาญจนบุรี / ศวอ.สุพรรณบุรี / ศวอ.ชุมพร / ศวอ.พัทลุง / ศวอ.สุราษฏร์ธานี / ศวอ.ตรัง / ศวอ.นครศรีธธรมราช / ศวอ.สตูล / และศวอ. นราธิวาส สนับสนุนเสบียงสัตว์เคลื่อนย้ายลงเสบียงอาหารสัตว์ลงไปไว้ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยาก โดยได้จัดเตรียมมีการเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ในหลายด้าน ได้แก่ ด้านการบริหาร โดยการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.)” ซึ่งมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ด้านเสบียงสัตว์สำรอง เพื่อความมั่นคงด้านอาหารสัตว์ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์              32 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 4,093.97 ตัน ถุงยังชีพสำหรับสัตว์ จำนวน 3,000 ถุง สำรองยานพาหนะ 118 คัน จัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 161 ทีม จุดอพยพสัตว์ 1,919 จุด นอกจากนี้ เมื่อหลังจากน้ำลดและเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว กรมปศุสัตว์จะให้การช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการฟื้นฟูสภาพการเลี้ยงสัตว์ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ต่อไป นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนเสบียงสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงาน สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อกลุ่มโครงการพิเศษและป้องกันภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 3315 และที่ Application DLD 4.0 เพื่อจะได้ให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

*********************************

ข้อมูล : ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

ข่าว : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ  นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ