นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ด้วยศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ ทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยสถานการณ์และแนวโน้มโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ในจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2565 มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ประกอบกับเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมปศุสัตว์และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดโครงการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หรือชลบุรีโมเดล (Chon Buri Model) ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ขึ้น โดยวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2566 กรมปศุสัตว์ ได้จัด Kick Off พิธีเปิดโครงการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนอนุบาลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้จังหวัดชลบุรีปลอดโรคพิษสุนัขบ้า และเป็นต้นแบบของการร่วมมือจากทุกหน่วยงาน โดยบูรณาการการดำเนินงานทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานระดับส่วนกลาง ระดับเขต และระดับจังหวัด ครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี มีปศุสัตว์จังหวัดชลบุรีเป็นผู้ประสานงานหลัก ซึ่งมีการดำเนินการโดยเน้นกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ การผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสัตว์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการสร้างชุมชนเข้มแข็งปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า

การจัดโครงการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดซลบุรี ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชลบุรีอย่างต่อเนื่องทุกปี ผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสัตว์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชลบุรี สร้างชุมชนเข็มแข็งด้วยการประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมให้ความรู้ ทำประชาคมชาวบ้าน สร้างความตระหนักและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 11 อำเภอ พื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกท้องถิ่น จำนวน 98 แห่ง ผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสุนัขและแมว จำนวน 98,000 ตัว และฉีดวัคชีนครอบคลุมร้อยละ 80 ของประชากรสุนัขและแมว ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมออกหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ให้บริการผ่าตัดทำหมันพร้อมกันทั้งจังหวัดชลบุรี โดยมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งในครั้งนี้ จังหวัดชลบุรีจะบริการผ่าตัดทำหมัน รวม 300 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า รวม 500 ตัว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน กรมปศุสัตว์ ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานด้านโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประกอบกับได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และบริการวิชาการด้านการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ภาคตะวันออก ระหว่างกรมปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีตะวันออก และชมรมสัตวแพทย์ภาคตะวันออก เพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยจะมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และขยายผลเร่งรัดดำเนินการไปยังทุกจังหวัดต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยงในจังหวัดชลบุรี สามารถพาสัตว์เลี้ยง ไปรับบริการได้ที่จุดให้บริการ โดยสามารถตรวจสอบจุดให้บริการได้จากเว็ปไซต์ของกรมปศุสัตว์

“โรคพิษสุนัขบ้านั้น ไม่มียารักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้ว ไม่ว่าคนหรือสัตว์จะเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือ มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือแจ้งได้ที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888 ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ช่วยกันจับอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำซากสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ต่อไป” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด

∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์

เรียบเรียงข่าวโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์