ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 น. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 2 (The 2nd National Forum on AMR) โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการ-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมพิธี  ณ  โรงแรมรามาการ์เด้นส์  กรุงเทพฯ  ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2563 ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ที่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบถึงนโยบายและความก้าวหน้าของการดำเนินงานระยะครึ่งแผนของแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีการจัดเวทีเสวนาและการอภิปรายโดยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเชื้อดื้อยาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันกับนักวิชาการที่เข้าร่วมประชุม จำนวนประมาณ 250 ท่าน จากภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ อาทิเช่น WHO, FAO, OIE, USAID และ UNEP 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การดื้อยาต้านจุลชีพกำลังเป็นปัญหาสำคัญด้านการสาธารณสุขในระดับโลก และประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้มีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ  คือ “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564”  ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ 4 “การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง” ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานประสานหลัก โดยมีเป้าประสงค์ คือ  การลดการใช้ยาในสัตว์ลง 30 %  ตัวอย่างการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ที่ 4 ในช่วงครึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ภาคเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ได้ดำเนินการ เช่น ยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิดในวัตถุประสงค์เพื่อการเร่งการเจริญเติบโต (Growth Promoter) การออกกฎหมายและกำกับดูแลอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated Feed) ที่การใช้ยาปฏิชีวนะผสมลงในอาหารสัตว์ต้องได้รับการสั่งใช้ยาโดยสัตวแพทย์ (Prescription) มีมาตรการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องสมเหตุผล (Prudent use) ตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice; GAP) รวมถึงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ “ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ” ควบคู่ไปกับการติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มีการตรวจวิเคราะห์เชื้อดื้อยาที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นต้น จากตัวอย่างการดำเนินงานที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ได้ให้ความสำคัญในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กำหนดไว้ โดยเน้นการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างถูกต้องสมเหตุผล ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรมีความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำพาให้ภาคการผลิตและธุรกิจด้านการเกษตรของประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป     

************************************************

ข้อมูลและข่าว: สพ.ญ. จุฬาพร ศรีหนา กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์