อาหาร ถือเป็นปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคน หรือสัตว์ ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และไม่มีพิษต่อร่างกาย สัตว์ ก็เช่นกัน อาหารสำหรับสัตว์นั้นมีหลายชนิด รวมถึงพืชก็ถือว่าเป็นอาหารของสัตว์อีกอย่างนึง ในที่นี้จะขอแนะนำพืชอาหารสัตว์ จำนวน 10 ชนิด ที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ดังนี้

 

หญ้ารูซี่ (Brachiaria ruziziensis)

เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นกึ่งเลื้อยกึ่งตั้ง สามารถเจริญเติบโต ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ตํ่าได้ ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดอน ดินมีการระบายน้ำดี ทนแล้งพอสมควร สามารถปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์หญ้ารูซี่อัตรา 2.0 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านหรือโรย เป็นแถวๆ ห่างกัน 50 เซนติเมตร การใส่ปุ๋ยก่อนปลูกควรมีการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่เป็นปุ๋ยรองพื้น และใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หลังการตัดทุกครั้ง การตัดหญ้ารูซี่ไปใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรก 60-70 วันหลังปลูก โดยตัดสูงจากพื้นดิน 10-15 เซนติเมตร สำหรับการปล่อยสัตว์เข้าแทะเล็ม ในแปลงหญ้า ควรปล่อยเข้าครั้งแรกเมื่อหญ้าอายุ 70-90 วัน หลังจากนั้น จึงทำการตัดหรือปล่อยสัตว์เข้าแทะเล็มหมุนเวียนทุก 30-45 วัน

หญ้ากินนีสีม่วง (Panicum maximum TD58)

เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นเป็นกอตั้งตรง แตกกอดี ใบใหญ่ใบดกอ่อนนุ่ม เติบโตได้ในสภาพร่มเงา เหมาะสำหรับปลูกในเขตชลประทาน สามารถปลูกโดยใช้เมล็ดอัตรา 1.0-2.0 กิโลกรัมต่อไร่ โรยเป็นแถวๆ ห่างกัน 50 เซนติเมตร การใส่ปุ๋ย ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่เป็นปุ๋ยรองพื้น ควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย และใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หลังการตัดทุกครั้ง การตัดหญ้ากินนีสีม่วงไปใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรก 60-70 วันหลังปลูกและตัดครั้งต่อไปทุกๆ 30-40 วัน ในช่วงฤดูฝนหญ้าโตเร็วสามารถตัดได้ทุก 20-30 วัน โดยตัดสูงจากพื้นดิน 10-15 เซนติเมตร

หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum purpureum)

เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี สายพันธุ์ที่นิยมปลูก คือ หญ้าเนเปียร์แคระ (P. purpureum cv. Mott) และหญ้าเนเปียร์ลูกผสม (P. Purpureum x P. americanum) หญ้าเนเปียร์แคระสูง 1-2 เมตร แตกกอดีใบมาก ปลูกได้ด้วยท่อนพันธุ์ ระยะปลูก 75x75 เซนติเมตร ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น ควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย และใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หลังการตัดทุกครั้ง หลุมละ 2 ท่อน ให้ข้ออยู่ใต้ดินลึก 1-2 นิ้ว การตัดหญ้าเนเปียร์ไปเลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรก 60-70 วัน หลังปลูก และตัดหญ้าครั้งต่อไปทุก 30-45 วัน ช่วงฤดูฝนหญ้าโตเร็ว อาจตัดอายุน้อยกว่า 30 วัน โดยตัดชิดดิน

หญ้าอะตราตัม (Paspalum atratum)

เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นตั้งเป็นกอ กอใหญ่ ใบกว้างขอบใบคม ทนต่อสภาพดินที่เป็นดินกรด ทนน้ำท่วมขัง ทนแล้ง สามารถปลูกโดยเมล็ดพันธุ์อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านหรือโรยเมล็ดห่างกันเป็นแถวๆ การใส่ปุ๋ยก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่เป็นปุ๋ยรองพื้น ควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย และใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หลังการตัดทุกครั้ง ถ้าปล่อยไว้ให้มี อายุมากใบจะหยาบกระด้างและขอบใบคม ควรตัดครั้งแรกประมาณ60 วันหลังปลูก และตัดครั้งต่อไปทุกๆ 30-40 วัน โดยตัดสูงจากพื้นดิน 5-10 เซนติเมตร

หญ้าแพงโกล่า (Digitaria eriantha)

เป็นหญ้าอายุที่มีหลายปี ต้นกึ่งตั้งกึ่งเลื้อย ลำต้นเล็ก ไม่มีขนใบเล็กเรียวยาว ใบดกอ่อนนุ่ม เหมาะสำหรับทำหญ้าแห้ง ทนน้ำท่วมขัง สามารถปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ควรปลูกในพื้นที่ลุ่มเขตชลประทาน ควรปล่อยน้ำท่วมแปลงทันทีหลังจากปลูกหญ้า ควรใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตราไร่ละ 50-100 กิโลกรัม หว่านให้ทั่วแปลงหลังจากนั้น 15 วัน จำนวน 3 ครั้ง โดยใส่ในรูปของปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตราไร่ละ 10 กิโลกรัม และใส่ปุ๋ยสูตร16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตราไร่ละ 50-100 กิโลกรัม การตัดหญ้าแพงโกล่าไปใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดหญ้าครั้งแรก 60 วันหลังปลูกและตัดครั้งต่อไปทุกๆ 40-45 วัน

ถั่วฮามาต้า (Stylosanthes hamata cv. Verano)

เป็นถั่วที่มีอายุ 2-3 ปี พุ่มเตี้ยตั้งตรง แตกกิ่งก้านแผ่คลุมพื้นที่ได้กว้าง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง ทนทานต่อการแทะเล็มเหยียบยํ่าของสัตว์ได้ดี สามารถปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อไร่ หยอดเมล็ดพันธุ์เป็นแถวๆ ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น ในปีต่อๆ ไปควรใส่ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี การตัดถั่วฮามาต้ามาใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรก 60-75 วัน หลังปลูก โดยตัดสูงจากพื้นดิน 10-15 เซนติเมตร

ถั่วท่าพระสไตโล (Stylosanthes guianensis CIAT 184)

เป็นถั่วที่มีอายุ 2–3 ปี พุ่มตั้ง ขนาดต้นและทรงพุ่มใหญ่กว่าถั่วฮามาต้า ไม่ทนดินเค็มและดินด่าง (pH มากกว่า 8) ทนสภาพดินกรดได้ดี สามารถปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 1.5-2 กิโลกรัมต่อไร่ หยอดเป็นแถวๆ ควรใส่ปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น และควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ในปีต่อๆ ไป และใส่ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี การตัดถั่วท่าพระสไตโลไปใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรก 80-90 วันหลังปลูก หลังจากนั้นตัดหรือปล่อยสัตว์แทะเล็มได้ ทุกๆ 60-75 วัน ควรตัดสูงจากพื้นดิน
15 เซนติเมตร

 

ถั่วไมยรา (Desmanthus virgatus)

เป็นถั่วมีอายุหลายปี เป็นไม้พุ่มค่อนข้างตั้งตรง สูง 2.0–3.5 เมตรใบและดอกคล้ายกระถิน แต่มีขนาดเล็กกว่า เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง ไม่ทนดินกรดจัด สามารถปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ หยอดเป็นแถวๆ ควรใส่ปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น ควรรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ในปีต่อๆ ไป และใส่ปุ๋ยเช่นเดียวกันกับปีแรกในช่วงต้นฤดูฝน การตัดถั่วไมยราไปใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรก 60-70 วันหลังปลูก และตัดครั้งต่อไปทุกๆ 30-45 วัน โดยตัดสูงจากพื้นดินประมาณ
30-50 เซนติเมตร

ถั่วคาวาลเคด (Centrosema pascuorum cv. Cavalcade)

เป็นถั่วที่มีอายุฤดูเดียว เถาเลื้อย ใบดก ลักษณะใบยาวเรียว ใบจะไม่ร่วงหล่นง่ายเหมาะสำหรับใช้ทำถั่วแห้งอัดฟ่อน ใช้เมล็ดพันธุ์หยอดเป็นแถวในอัตรา 2-4 กิโลกรัมต่อไร่โรยเป็นแถวๆ ก่อนปลูกควรมีการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่เป็นปุ๋ยรองพื้น และควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ถั่วคาวาลเคดเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงโค-กระบือ แพะ แกะ ม้า และช้าง ตัดสูงจากพื้นดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร

 ถั่วลิสงเถา 

เป็นถั่วที่มีอายุหลายปี ที่นิยมปลูกมีอยู่ 2 ชนิด คือ Arachis pinto และ Arachis glabrata เจริญเติบโตคลุมดินได้อย่างหนาแน่นขึ้นได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และมีความชื้นสูง ทนต่อสภาพร่มเงาทนต่อการแทะเล็มและเหยียบย่ำของสัตว์ได้ดีมาก ปลูกโดยหยอดเมล็ดเป็นแถวอัตรา 2-4 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะห่างระหว่างแถว ก่อนปลูกควรมีการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น ควรมีการใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ในการดูแลรักษาแปลงถั่วควรใส่ปุ๋ยทริปเปิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต ในช่วงต้นฤดูของทุกปี ในอัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ควรปล่อยแทะเล็มครั้งแรกที่ถั่วอายุ 70-90 วันหลังจากนั้นจึงจะทำการปล่อยสัตว์แทะเล็มทุกๆ 30-45 วัน

ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์

เรียบเรียง : นางสาวสทัตตา นักวิชาการเผยแพร่ปฎิบัติการ