ในวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก ปี 63 (Thailand’s World Antimicrobial Awareness Week 2020) โดยมี นายสัตวแพทย์สมชวน  รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องริชมอนด์ บอลรูม 2 ชั้น 6 โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิส คอนเวนชั่น นนทบุรี ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 - 24 พฤศจิกายน 2563 ภายใต้ธีม “Antimicrobial : Handle with care” โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ ภาคประชาชน ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

นายสัตวแพทย์สมชวน  รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ในฐานะที่เป็นแกนประสานและขับเคลื่อนหลัก ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์ที่ 4 “การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ในภาคการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์” ได้มีการดำเนินงานขับเคลื่อนการจัดการการ  ดื้อยาต้านจุลชีพร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างถูกต้องสมเหตุผลในสัตว์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยมีเป้าประสงค์ คือ การลดการใช้ยาในสัตว์ลง 30 % มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะอนุกรรมการ การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และอธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และอธิบดี-กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม โดยได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการจัดการเชื้อดื้อยา ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ภาคการศึกษา สัตวแพทยสภา สมาคมต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการและภาคเอกชนต่างๆ ในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการ ภายใต้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) ซึ่งในช่วงครึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพดังนี้

ภาคปศุสัตว์ ที่มีกรมปศุสัตว์เป็นแกนประสาน ตัวอย่างการดำเนินงาน เช่น ยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิด ในวัตถุประสงค์เพื่อการเร่งการเจริญเติบโต (Growth Promoter) การออกกฎหมายและกำกับดูแลอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated Feed) ที่การใช้ยาปฏิชีวนะผสมลงในอาหารสัตว์ ต้องได้รับการสั่งใช้ยาโดยสัตวแพทย์ (Prescription) มีมาตรการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องสมเหตุผล (Prudent use) ตามหลักมาตรฐานฟาร์ม หรือที่เรียกว่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice; GAP) รวมถึงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ “ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ” ควบคู่ไปกับการติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่ มีการตรวจวิเคราะห์เชื้อดื้อยาที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นต้น

ภาคการประมง ที่มีกรมประมงเป็นแกนประสาน มีการจัดทำแนวปฏิบัติ ในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม   ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การฝึกอบรมนักวิชาการประมงและเกษตรกร ด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการพัฒนาบุคลากร ด้านการกำกับดูแลด้านกฎหมาย ด้านการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ และการป้องกันโรคสัตว์น้ำ ตามหลักการความปลอดภัยทางชีวภาพ  ภาคมาตรฐานด้านการเกษตร ที่มีภาคสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน ที่มีสัตวแพทยสภา และภาคีคณะสัตวแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก มีโครงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลสัตว์ โดยผนวกการเรียนการสอน เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เข้าในมาตรฐานของสถานพยาบาลสัตว์ ที่เป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาสัตวแพทย์ และจัดทำคู่มือหลักการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์เลี้ยง รวมทั้ง มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำหรับหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อศึกษาสถานการณ์ และเพื่อติดตามความก้าวหน้า การจัดการเรียนการสอน การใช้ยาอย่างสมเหตุผล ในหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต

ภาคการเพาะปลูก ที่มีกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มีการศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบและการตกค้างของยาต้านจุลชีพจากการใช้ยาต้านจุลชีพ ในการป้องกันกำจัดโรคกรีนนิ่งในส้ม พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้มาตรการทางกายภาพ แทนการใช้ยาต้านจุลชีพ ในการจัดการโรคกรีนนิ่งในส้ม

จากตัวอย่างการดำเนินงานที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ได้ให้ความสำคัญในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กำหนดไว้ โดยเน้นการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างถูกต้องสมเหตุผล ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรมีความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำพาให้ภาคการผลิต และธุรกิจด้านการเกษตรของประเทศไทย มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

************************************************

ข้อมูล: สัตวแพทย์หญิง จุฬาพร ศรีหนา นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กองควบคุมอาหารและยาสัตว์          

ข่าว : เพ็ญศิริ  ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม