ตามพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนม รวมถึงกำหนดนโยบายแผนการผลิตและจำหน่ายน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นมทั้งระบบในประเทศและต่างประเทศ จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 เรื่องการแก้ไขปัญหานมในภาพรวมทั้งระบบได้ให้ความสำคัญด้านการควบคุมกำกับคุณภาพนมตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหานมในภาพรวมทุกระดับ

กรมปศุสัตว์เป็นหนึ่งของกรรมการใน Milk Board มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรในระดับฟาร์มให้เป็นไปตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice; GAP) และการดูแลคุณภาพน้ำนม และการผลิตในศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้เป็นไปตามการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวม น้ำนมดิบ (Good Manufacturing Practice; GMP) การตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบและองค์ประกอบน้ำนมรายฟาร์มที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นขั้นตอนสำคัญในการแบ่งเกรดคุณภาพน้ำนมและให้ราคาเพิ่มสำหรับน้ำนมที่มีคุณภาพสูง การตรวจองค์ประกอบน้ำนมและการปนเปื้อน

น้ำนมดิบเป็นผลผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่รวบรวมขนส่งไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทุกเช้า-เย็นเพื่อลดอุณหภูมิ ซึ่งเป็นการรักษาคุณภาพนมให้ยังคงความสดใหม่และมีโภชนะที่ครบถ้วน เมื่อถังนมของเกษตรกรมาถึงศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุณภาพจะตรวจสอบคุณภาพน้ำนมเบื้องต้น รวมถึงตรวจสอบการปลอมปนน้ำและ ยาปฏิชีวนะ ก่อนเข้าถังรวมเพื่อลดอุณหภูมิรักษาคุณภาพและเก็บตัวอย่างส่งให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบองค์ประกอบน้ำนมและคุณภาพโดยละเอียดอีกครั้ง ข้อมูลองค์ประกอบน้ำนมที่ได้จากการตรวจสอบมีส่วนช่วยให้กรมปศุสัตว์ทราบถึงสภาพการจัดการฟาร์มของเกษตรกร และยังเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเข้าไปแนะนำการบริหารจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง พัฒนาให้มีคุณภาพน้ำนมสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น

-----------------------------

ข้อมูล/บทความ  :  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์           เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ