เดิมทีหญ้าเนเปียร์เป็นหญ้าที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศของแอฟริกา มีลำต้นขนาดใหญ่ ลำต้นแตกเป็นกอหรือแตกต้นใหม่ได้ ลำต้นมีลักษณะ เป็นข้อปล้องประมาณ 15-20 ข้อ ลำต้นเหนือดินมีลักษณะทรงกลมและตั้งตรง มีขนาดลำต้น 2-2.5 เซนติเมตร สูง 2-6 เมตร ส่วนรากมีเฉพาะระบบรากฝอยที่แตกออกจากเหง้าจำนวนมาก เป็นหญ้าที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกพื้นที่ในทุกภาคของประเทศไทย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นดินร่วนปนทราย ดินเหนียว หรือดินลูกรัง ชอบดินที่มีการระบายน้ำดีและมีความอุดมสมบูรณ์ ทนแล้ง แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง ถ้าหากจะอยากปลูกสามารถยกร่องเพื่อระบายน้ำก็จะสามารถปลูกได้เช่นกัน เป็นพืชที่ต้องการน้ำฝนประมาณ 1,000 มิลลิเมตร/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยที่ต้องการน้ำฝน 1,200-1,500 มิลลิเมตร/ปี โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้นำมาพัฒนาสายพันธุ์รวมกับหญ้าท้องถิ่นของไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์อีกมากมายเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลูกง่ายและต้นทุนต่ำ จนกระทั่งได้มีการพัฒนาจนเกิดเป็นหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ขึ้นมา
หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นหญ้าลูกผสมเนเปียร์สายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างหญ้าเนเปียร์ยักษ์และหญ้าไข่มุก เป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพสูงทั้งในแง่การให้ผลผลิต และมีคุณค่าทางอาหารตามที่สัตว์ต้องการ เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น ลำต้นมีอายุหลายปีความสูงได้มากกว่า 4 เมตร มีระบบรากแข็งแรงแผ่กระจายอยู่ในดิน สามารถดูดนํ้าและปุ๋ยได้ดี ทำให้เป็นหญ้าที่เจริญเติบโตเร็ว โดยเฉพาะน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการเกษตรต่างๆ อาทิ น้ำเสียจากโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง เมื่อให้น้ำแก่หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 แล้ว พบว่า ลำต้นและใบตอบสนองได้ดีมาก จึงเป็นประโยชน์อีกทางที่จะนำน้ำเสียมากำจัด สำหรับการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สามารถปลูกได้ด้วยการใช้ท่อนพันธุ์ เพราะไม่มีการติดเมล็ดหรือติดเมล็ดน้อยมาก สามารถเก็บเกี่ยวต้นได้ตลอดทั้งปี และเก็บเกี่ยวได้นาน 5-7 ปี ต่อการปลูก 1 ครั้ง ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศไทย
ลักษณะเด่นของหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นหญ้าที่เติบโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง โปรตีนสูง มีความน่ากินสูง สัตว์ชอบกิน ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุ๋ยดี แตกกอดี แก่ช้า ทนแล้ง ในช่วงฤดูหนาวยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่มีระยะพักตัว ใบและลำต้นอ่อนนุ่ม ขอบใบไม่คม ไม่มีขนที่ทำให้เกิดอาการคันคาย มีระยะออกดอกเป็นเวลาสั้น ไม่ติดเมล็ด ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี มีปริมาณน้ำตาลในใบและลำต้นสูงทำเป็นหญ้าหมักโดยไม่จำเป็นต้องเติมสารเสริมใดๆ ปรับตัวได้ดีในดินหลายสภาพ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน เก็บเกี่ยวง่าย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง 5-7 ปี เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด
การปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ช่วงเวลาในการปลูกโดยทั่วไป พื้นที่อาศัยน้ำฝนควรปลูกต้นฤดูฝน ส่วนการปลูกในพื้นที่ชลประทานสามารถปลูกได้ตลอดปี การเตรียมดิน ควรไถพรวน 2-3 ครั้ง ไถครั้งแรกในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม เพื่อเปิดหน้าดินและทำลายวัชพืชที่ปกคลุมดินอยู่ และไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืชที่งอกขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งย่อยดินให้มีขนาดเล็กลงและร่วนซุย การเตรียมท่อนพันธุ์และการปลูก ใช้ต้นพันธุ์อายุประมาณ 90 วัน โดยนำต้นพันธุ์มาตัดเป็นท่อนๆ ให้มีข้อติดอยู่ไม่น้อยกว่าท่อนละ 2 ข้อ ระยะปลูกระหว่างแถว 1.2 เมตร ระยะระหว่างต้น 1 เมตร ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 400 กก. ต่อไร่ การใส่ปุ๋ยจะใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้นและควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ หลังการตัดหญ้าแต่ละครั้ง การให้น้ำควรให้น้ำแบบระบบพ่นฝอยทุก 3-5 วัน หรือปล่อยน้ำเข้าแปลงทุก 7-10 วันส่วนการเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์ ต้องตัดให้ชิดดินที่สุด เพื่อให้แตกหน่อใหม่จากใต้ดิน จะตั้งตัวได้เร็วและมีลำต้นที่สมบูรณ์ ควรตัดหญ้าครั้งแรกหลังจากปลูกประมาณ 75 วัน หลังจากนั้นตัดได้ทุก 45-60 วัน ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่สามารถนำไปเลี้ยงโคได้ประมาณ 5-6 ตัว เหมาะสำหรับผู้มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์น้อยแต่มีจำนวนสัตว์มาก
กล่าวได้ว่าหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นหญ้าที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกพื้นที่ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำเยอะ มีความทนทานต่อสภาพอากาศสูง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินหลายประเภท และเป็นแหล่งอาหารหลักที่สำคัญสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องจำพวก โคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ แกะ จึงทำให้หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ได้รับความนิยมจากเกษตรกร และยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตอาหารแก่สัตว์ อีกด้วย หากเกษตรกรท่านใดสนใจข้อมูลหรือมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือโทร 0-2501-1147, 0-2501-1148, 0-2501-1164
ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ