ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบแอฟริกา และมีการแพร่กระจายของโรคในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐไต้หวัน ราชอาณาจักรภูฏาน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2563 มีรายงานแจ้งเตือนการเกิดโรคลัมปี สกิน ในโคเนื้อ ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จึงเป็นโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทย ซึ่งมีการนำเข้า โค กระบือ จากประเทศเพื่อนบ้าน มีความเสี่ยงสูงที่จะพบการระบาดของโรคดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้มีการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือโรคลัมปี สกิน โดยชะลอการนำเข้า โค กระบือ ทั้งที่มีชีวิตและซาก จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซักซ้อมความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เข้มงวด เฝ้าระวังอาการโรคโดยกำหนดนิยามโรคลัมปี สกิน และหากพบ โค กระบือ แสดงอาการน่าสงสัย ให้รีบดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจเรื่องโรคลัมปี สกิน วิธีการป้องกัน และเฝ้าระวังโรค ให้กับเกษตรกร สหกรณ์โคเนื้อ โคนม ตลาดนัดค้าสัตว์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
โรคลัมปี สกิน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus (LSDV) หรือเชื้อไวรัสฝีดาษในตระกูล Capripoxvirus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะต่างๆ ที่มีเซลล์เยื่อบุ มีลักษณะอาการ คือ สัตว์อาจจะมีไข้สูงได้ถึง 41 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำนมลดอย่างเห็นได้ชัดในโคนม ซึม เบื่ออาหาร ซูบผอม เยื่อจมูกอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ มีปริมาณน้ำลายมากกว่าปกติ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เกิดตุ่มบริเวณผิวหนังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2–5 ซม. บริเวณหัว คอ ขา เต้านม อวัยวะเพศ ภายใน 48 ชม. หลังจากแสดงอาการป่วย โดยตุ่มมีลักษณะแข็ง กลม นูนขึ้นจากผิวหนังโดยรอบ ซึ่งตุ่มนูนที่มีขนาดใหญ่อาจจะกลายเป็นเนื้อตาย มีแผลเป็นเกิดขึ้นและคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน ส่วนตุ่มนูนขนาดเล็กสามารถหายได้เร็วกว่า สามารถพบตุ่มน้ำ หรือแผลจากการแตกของตุ่มน้ำได้ในบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก ทางเดินอาหาร หลอดลม และปอดได้ อาจพบการบวมน้ำในบริเวณส่วนท้องของตัวสัตว์ ซึ่งจะส่งผลให้สัตว์ไม่อยากเคลื่อนไหว ในพ่อพันธุ์อาจจะส่งผลให้เกิดการเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวรได้ สำหรับแม่พันธุ์อาจจะส่งผลให้แท้งและเกิดการกลับสัดช้า โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุง เป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง ผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรกได้
สำหรับการป้องกันโรคลัมปี สกิน ซึ่งมีพาหะนำโรค คือ แมลงดูดเลือดสามารถป้องกันหรือลดโอกาสการติดเชื้อได้ด้วยการกำจัดแมลงโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ดำเนินการปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในพื้นที่โดยรอบ กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำ หรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ รวมทั้งการกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด
ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบโค กระบือป่วย และแสดงอาการผิดปกติ ให้รีบดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ทันที เพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวต่อไป สายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 แจ้งเหตุร้องทุกข์ใน Application DLD 4.0
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ