ฟอสฟอรัสรวม (total phosphorus) เป็นพารามิเตอร์ใหม่ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร ซึ่งออกภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2565 เนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของพืชน้ำหรือแพลงก์ตอนพืช หากมีการปล่อยน้ำทิ้งที่มีฟอสฟอรัสสูงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะจะทำให้แหล่งน้ำมีสีเขียวและมีสาหร่ายจำนวนมาก (algae bloom) ส่งผลให้น้ำมีออกซิเจนน้อยลงในเวลาที่ไม่มีแสงแดด และอาจเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำขาดออกซิเจนและตายได้ โดยกำหนดให้มีการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากการเลี้ยงสุกรตั้งแต่ 50 ตัวหรือ 6 หน่วยปศุสัตว์ขึ้นไป จะต้องมีค่าฟอสฟอรัสรวมไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อลิตรก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือสิ่งแวดล้อม
กรมปศุสัตว์ โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ฟอสฟอรัสรวมในน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกร ด้วยวิธีแอสคอร์บิกแอซิด และตรวจวัดด้วยเครื่อง UV-VIS spectrophotometer ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศ เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอรับบริการที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด โดยทำการเก็บตัวอย่างแบบจ้วง (grab sampling) จากจุดที่ระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือจุดอื่นที่สามารถใช้เป็นตัวแทนของน้ำทิ้งจากสถานที่เลี้ยงสุกร ในกรณีที่ฟาร์มมีการระบายน้ำทิ้งหลายจุด แนะนำให้เก็บทุกจุดที่มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม ปริมาณ 1 ลิตร ใส่ขวดพลาสติกชนิด high density polyethylene (HDPE) และเติมกรดซัลฟูริคเข้มข้น (conc. H2SO4) ปริมาณ 1-2 มิลลิลิตร เพื่อเป็นการรักษาสภาพตัวอย่างเพื่อให้ค่า pH ต่ำกว่า 2 แล้วแช่เย็นที่ 4 องศาเซลเซียส หรือแช่ในกล่องโฟมที่มีน้ำแข็ง และนำส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
ข้อมูล : สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
เรียบเรียง : น.ส.รัชนี ทิพย์กล่อม นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ /น.ส.อัจฉราพรรณ กลั่นเกณไถ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม