ปัจจุบันคนนิยมบริโภคจิ้งหรีดเป็นอาหาร เพราะมีโปรตีนสูง ปลอดสารพิษ ในธรรมชาติจะหาจิ้งหรีดมาเพื่อบริโภคได้ไม่มากนัก บางฤดูมีมาก บางฤดูแทบจะหาไม่ได้เลย เช่น ฤดูหนาว จิ้งหรีดจะขยายพันธุ์ช้า หากมีการจัดการที่ดี จะมีจิ้งหรีดไว้บริโภคหรือจำหน่ายได้ตลอด
การจัดการจิ้งหรีด น้ำ และอาหาร เริ่มจากการเตรียมบ่อ การบ่มไข่ การเลี้ยงจิ้งหรีดวัยอ่อน การเลี้ยงจิ้งหรีดวัยอ่อน–โตเต็มวัย และการเลี้ยงจิ้งหรีดช่วงผสมพันธุ์วางไข่
การเตรียมบ่อ ทำความสะอาดบ่อ ให้สะอาด และทำให้แห้ง เพื่อรอรับตัวอ่อนจิ้งหรีด วางไม้ในบ่อตามแนวยาว และแนวขวางที่พื้นบ่อ ให้มีความสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อไว้รองแผงไข่ไม่ให้มูลจิ้งหรีดสัมผัสกับแผงไข่ เพื่อช่วยลดการสะสมเชื้อโรค และยืดอายุการใช้แผงไข่ ติดเทปกาวขอบบ่อด้านใน ควรใช้เทปที่ไม่หลุดลอก และง่ายต่อการทำความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดไต่ออก ปิดปากบ่อด้วยมุ้งตาข่ายเพื่อป้องกันศัตรูของจิ้งหรีด เช่น ตุ๊กแก จิ้งจก เรียงแผงไข่ สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย และที่หลบซ่อนของจิ้งหรีด ซึ่งรูปแบบการจัดเรียงแผงไข่ มีหลายแบบ เช่น เรียงประกบ 2 ทีละคู่ ต่อไปเรื่อยๆ หรือจะเรียงแบบปีกนก ซ้อนทับกัน 1-2 หลุม
การบ่มไข่ ควรมีการจัดวางให้เหมาะสม แยกพื้นที่ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการปนเปื้อน มีวัสดุปิดเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิและความร้อน อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับบ่มไข่อยู่ที่ 35-38 องศาเซลเซียส โดยขั้นตอนของการบ่มไข่ คือ นำไข่จิ้งหรีดใส่ถุงกระสอบ กระสอบละ 5-10 ขัน ไม่ควรใส่ไข่ปริมาณเยอะ เพราะจะทำให้ไข่จิ้งหรีดรับความร้อนไม่เท่ากัน มัดปากกระสอบไว้ ปิดปากถุงกระสอบ ไม่ต้องปิดแน่นมาก ให้ปิดพอหลวมเพื่อให้อากาศเข้าไปได้ แล้วนำไปวางบ่มรวมกันในบ่อบ่มไข่ ทั้งนี้ ปริมาณการใส่ขันไข่ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่การเลี้ยง ขนาดขันไข่ และความหนาแน่นของไข่ อีกด้วย แต่หากประเมินจากขนาดขัน และพื้นที่การเลี้ยงจะใช้ปริมาณดังนี้ เช่น บ่อแบบกล่อง ขนาด กว้าง*ยาว*สูง คือ1.2*2.4*0.6 เมตร (พื้นที่ 1.7 ตารางเมตร) ใส่ขันไข่ประมาณ 3-5 ขัน/บ่อ จะได้ จิ้งหรีดทองดำประมาณ 15-25 กิโลกรัม บ่อซีเมนต์ 1.6*4*0.6 เมตร (พื้นที่ 3.8 ตารางเมตร) จะเลี้ยงจิ้งหรีดโดยใส่ขันไข่จิ้งหรีด จำนวน 6-10 ขัน/บ่อ จะได้ผลผลิตจิ้งหรีดทองดำประมาณ 25-30 กิโลกรัม ย้ายเข้าบ่อเลี้ยง เมื่อสังเกตเห็นไข่ตึงและมีสีเหลืองอมน้ำตาล จึงเอาขันไข่ หรือกระสอบไข่ไปใส่ไว้ในบ่อเลี้ยง โดยทั่วไปไข่จิ้งหรีดจะใช้เวลาในการฟักประมาณ 7 -10 วัน จึงจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ในฤดูหนาวอาจใช้เวลาบ่มนานขึ้น หมั่นตรวจสอบทุก 2-3 วัน หลังจากเริ่มอบไข่ เปิดดูว่าไข่เริ่มฟักตัวออกมาหรือไม่ หากยังไม่มีการฟัก ให้จับกระสอบพลิกไปพลิกมา ให้จิ้งหรีดมีการสลับด้าน หากไม่สลับและอบไข่ด้านเดียว ไข่จิ้งหรีดจะฟักไม่พร้อมกัน หรืออาจจะไม่ฟักเลย หากอุณหภูมิร้อนเกินไป ให้ฉีดน้ำพรมเล็กน้อย หรือถ้าไข่จิ้งหรีดแห้งเกินไป ก็ฉีดน้ำพรมเช่นกัน ไม่ควรฉีดน้ำเยอะเกินไปจนเปียกแฉะ จะทำให้ไข่จิ้งหรีดไม่ฟักตัวได้เช่นกัน
การเลี้ยงจิ้งหรีดวัยอ่อน หลังจากบ่มไข่แล้ว เมื่อจิ้งหรีดเริ่มฟักตัวค่อยย้ายไปลงบ่อ เปิดปากกระสอบที่ใช้อบ ปล่อยให้จิ้งหรีดไต่ออกมาจากกระสอบให้หมดจึงย้ายดินออก ลูกจิ้งหรีดช่วงนี้จะขนาดตัวเล็กมากคล้ายๆ มด ต้องดูแลให้ดีทั้งการให้น้ำและอาหาร การให้น้ำ ในระยะที่เป็นตัวอ่อน การให้น้ำจิ้งหรีด ควรใช้ฟองน้ำ หรือผ้า ชุบน้ำให้ชุ่มแล้ววางในบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด ตัวอ่อนจิ้งหรีดจะมาดูดกินน้ำที่ฟองน้ำ ไม่ควรให้น้ำโดยใส่ ถ้วย จาน หรือถาดอาหารสูง เพราะจะทำให้จิ้งหรีดที่ตัวเล็กตกลงไปตายได้ อีกวิธีที่ให้น้ำจิ้งหรีดได้ คือ การวางใบตองและสเปรย์ฉีดพ่นน้ำ ซึ่งจะเหมือนธรรมชาติ อีกทั้งการฉีดพ่นละอองน้ำ ยังช่วยให้จิ้งหรีดคลายร้อน ลดความเครียดของจิ้งหรีดได้ การให้อาหาร ช่วงระยะแรกเกิด จะให้อาหารผงละเอียด เนื่องจากจิ้งหรีดตัวเล็ก กินอาหารเม็ดหรืออาหารอื่นลำบาก อาจจะให้อาหารจิ้งหรีด หรืออาหารไก่เล็ก บดละเอียด ใส่ภาชนะขอบเตี้ยๆ หรือหาเศษหญ้าแห้งมาพาดเพื่อให้จิ้งหรีดปีนเข้าไปกินอาหารได้ ควรมีโปรตีนอาหารอยู่ที่ 21% มีความน่ากิน ย่อยง่าย ดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้สูง ให้อาหารทีละน้อยๆ พอหมดค่อยเพิ่ม แต่ต้องมีพื้นที่ให้อาหารเพียงพอ เพื่อให้จิ้งหรีดกินอาหารทันกัน จิ้งหรีดจะมีขนาดตัวเท่ากัน
การเลี้ยงจิ้งหรีดวัยตัวอ่อน-โตเต็มวัย เริ่มนำแผงไข่ที่เตรียมไว้ลงในบ่อ จิ้งหรีดช่วงนี้จะลอกคราบประมาณ 8 ระยะ ช่วงลอกคราบจิ้งหรีดจะอ่อนแอมาก และจะกินกันเอง ดังนั้นต้องจัดเตรียมน้ำ และอาหารให้เพียงพอ หรือเพิ่มหญ้าสด หรือหญ้าแห้งเพื่อเพิ่มพื้นที่หลบภัย ระยะนี้จะใช้เวลา 45-50 วัน การรอดชีวิตจากวัยอ่อนถึงตัวเต็มวัยอยู่ที่ 90% การให้น้ำ ในระยะที่จิ้งหรีดเริ่มโต สามารถให้น้ำโดยใส่ภาชนะก้นตื้น หรือจาน แล้ววางก้อนหินก้อนเล็กๆ ไว้ในจานเพื่อให้จิ้งหรีดเกาะกินน้ำได้ง่าย หรือใช้ท่อพีวีซี (PVC) เจาะรู อุดด้วยผ้าที่ร่องเพื่อซับน้ำสำหรับจิ้งหรีดใช้กินได้ การให้อาหาร ใช้อาหารจิ้งหรีด หรืออาหารไก่เล็กบดละเอียด โดยให้ทีละน้อย ควรให้อาหารเช้า-เย็น เสริมหญ้าแห้ง หรือหญ้าสด หรือพืชอาหารที่ปลอดสารพิษ เช่น ต้นอ่อนพืช หรือหญ้าสดทุกชนิด หญ้าขน หญ้ารูซี่ ผักตบชวา โดย 2 วัน ให้หญ้า 1 ครั้งๆ ละ 1 กำมือ โดยหญ้าเก่า หากแห้งไม่ต้องนำออก จะเป็นที่อาศัยของจิ้งหรีดต่อไป ทั้งนี้ควรให้น้อยๆ และบ่อยครั้ง ให้ในปริมาณที่กินหมดภายใน 2 วัน ส่วนอาหารเสริมที่นิยมให้เพื่อเพิ่มโปรตีนกับจิ้งหรีด ทำให้ตัวโต น้ำหนักดี ส่วนมากแล้วจะให้ช่วงก่อนนำจิ้งหรีดออกขายประมาณ 1 สัปดาห์ คือ พืช ผักต่าง ๆ เช่น ฟัก-แฟง ฟักทอง ผักบุ้ง ผักโขม คะน้ากวางตุ้ง กล้วย ใบมันสำปะหลัง ไม่ควรนำใบกระถินมาเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากใบกระถินมีสารลูซีนิน (leucenine) ซึ่งเป็นพิษ อาจทำให้จิ้งหรีดตาย และพืชที่ได้จากธรรมชาติควรทำความสะอาดก่อน หากเป็นพืชที่เก็บจากแหล่งน้ำ ควรตรวจสอบดูว่า ต้นน้ำหรือบริเวณใกล้เคียงมีการเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หมูหรือสัตว์อื่นๆ หรือไม่ เพราะน้ำเสียจากคอกสัตว์เหล่านี้มักมีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด
การเลี้ยงจิ้งหรีดช่วงผสมพันธุ์วางไข่ เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์จิ้งหรีดจะเริ่มส่งเสียงร้อง จิ้งหรีดเพศเมียจะเริ่มวางไข่ภายใน 3-5 วันหลังจากผสมพันธุ์ จิ้งหรีดจะกระวนกระวายหาที่วางไข่ ให้นำถาดใส่ขี้เถ้าแกลบรดน้ำให้ชุ่มพอประมาณมาวาง จิ้งหรีดจะใช้อวัยวะวางไข่แทงลงไปในดิน จะวางไข่เป็นกลุ่ม ควรรองไข่ในบ่อเลี้ยง 6-8 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำถาดที่รองไข่ไปอบเพื่อเลี้ยงขยายพันธุ์ หรือขายต่อไป ส่วนจิ้งหรีดสามารถจับขายได้ หรือจะเลี้ยงต่อ เพื่อรองไข่อีกประมาณ 3-5 รอบ โดยขั้นตอนการรองไข่ จะต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อวัสดุใช้รองไข่ก่อนใช้ เช่น แกลบ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภาชนะที่ใช้รองไข่ ภาชนะที่ใช้ เช่น ขันพลาสติก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16-20 เซนติเมตร ล้างให้ สะอาด และผึ่งให้แห้งก่อนนำมาใช้รองไข่ วัสดุรองไข่ ใช้แกลบเผา 60% + ทราย 30% + ขุยมะพร้าว 10% นำมาผสมเข้าด้วยกัน หรือใช้เฉพาะแกลบเผาทั้งหมดก็ได้ นำส่วนผสมดังกล่าวมาผสมกับน้ำพอหมาด ให้มีความชุ่มชื้น (ปั้นเป็นก้อนได้) เอาใส่ขันให้หนา 5-7 เซนติเมตร โดยไม่ต้องอัดให้แน่น หรืออาจจะใช้ดินสำเร็จรูปที่ทำเป็นการค้าสำหรับให้จิ้งหรีดวางไข่ได้ และวางภาชนะและวัสดุที่ใช้รองไข่ในบ่อเลี้ยง 6-8 ชั่วโมง (ทิ้งไว้ 1 คืน โดยประมาณ) ถ้าวางนานเกินกว่านี้จะทำให้อายุไข่จิ้งหรีดไม่เท่ากัน
การเก็บรวบรวมจิ้งหรีดจากบ่อ เก็บจำหน่ายได้ทั้งระยะเสื้อกั๊ก และตัวเต็มวัย แต่ควรเก็บจิ้งหรีดให้หมดบ่อ เพื่อสะดวกในการทำความสะอาด เตรียมบ่อสำหรับรุ่นถัดไป โดยงดการให้อาหาร 2-3 วัน ก่อนเก็บจิ้งหรีดออกจากบ่อ โดยการเอาถาดอาหารออกจากบ่อเลี้ยง เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดมีกลิ่นตัว นำถาดน้ำออก เคาะแผงไข่เพื่อขจัดมูลและฝุ่น แล้วนำกลับเข้าไปวางใหม่ด้านในของบ่อ จิ้งหรีดจะมาเกาะที่แผงไข่ เขย่าแผงไข่ ลงในกะละมังที่เจาะรูด้านล่างเพื่อแยกมูลจิ้งหรีดออก ไม่ควรลงเหยียบบ่อเลี้ยงขณะเก็บเกี่ยวจิ้งหรีด เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค ใช้สวิงรูปสามเหลี่ยมที่ทำด้วยลวดหรือไม้แขวนเสื้อ สวมด้วยถุงพลาสติก ช้อนเอาจิ้งหรีดที่เกาะผนังบ่อใส่ในกะละมัง ล้างจิ้งหรีดด้วยน้ำสะอาด 3-5 ครั้ง ต้มในน้ำเดือด 10 นาที บรรจุใส่ถุง แช่ตู้อุณหภูมิระหว่าง -15 ถึง -20 องศาเซลเซียส ในระหว่างรอการแปรรูป และจำหน่าย เพื่อลดการเกิดฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้
สำหรับเรื่องโรคและศัตรูของจิ้งหรีดนั้น โดยปกติจิ้งหรีดเป็นแมลงที่ไม่ค่อยมีโรคและศัตรูรบกวนมากนัก แต่ควรจะป้องกันเรื่องการให้อาหาร โดยต้องให้อาหารปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนจิ้งหรีด และเมื่อเก็บจิ้งหรีดไปขายแล้ว ก็ควรทำความสะอาดบ่อ ก่อนนำจิ้งหรีดรุ่นใหม่มาเลี้ยง ส่วนสัตว์ศัตรูของจิ้งหรีด ได้แก่ มด จิ้งจก ไร แมงมุน ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยใช้ตาข่ายคลุมให้มิดชิด
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
เรียบเรียง : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ