“แหนแดง” เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น อาศัยอยู่ทั่วไปบริเวณน้ำนิ่ง เช่น คู หนอง บึง ลักษณะทั่วไปของแหนแดง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่ ลำต้น มีลักษณะเป็นลำต้นสั้นๆ แบบไรโซม (rhizome) แตกกิ่งออกสองข้างแบบสลับ แผ่ขนาน กับพื้นน้ำภายในลำต้นมีระบบท่อลำเลียง ประกอบด้วยกิ่งแขนงเล็กๆ แตกออกด้านข้างเรียงสลับกันไป โดยกิ่งแขนงเล็กๆ แยกออกไปเป็นกิ่งแขนงย่อยอีกหลายชั้นขึ้นอยู่กับชนิดของแหนแดง และเมื่อกิ่งแก่ กิ่งแขนงย่อยจะหลุดออกจากลำต้น และเกิดเป็นต้นใหม่ ราก เป็นรากพิเศษยาวอยู่ใต้ลำต้น เกิดตรงข้อด้านล่างของลำต้นทิ้งดิ่งลงไปในน้ำส่วนของปลายรากที่ยังอ่อนจะมีหมวกรากหุ้มอยู่ และจะหลุดออกเมื่อรากเจริญเต็มที่และมีรากขนอ่อนขึ้นแทนที่ โดยรากขนอ่อนนี้เกิดจากการแบ่งของเซลล์ที่อยู่ตัวรอบๆ เซลล์ epidermal ใบ มีขนาดเล็กเป็นใบประกอบ ขอบใบเรียบ ไม่มีก้านใบ มีใบย่อย 7 – 10 ใบ เรียงสลับซ้อนกันอยู่ ใบย่อยแต่ละใบประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กาบใบบน และกาบใบล่าง ทั้งสองกาบมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยกาบใบบนซึ่งอยู่บนผิวน้ำมีสีเขียวเมื่อยังอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อแก่หรือเมื่อได้รับแสงแดดจัดเกินไป และมีโพรงใบรูปไข่ตรงกึ่งกลางด้านหลัง ซึ่งเป็นที่อาศัยของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ส่วนกาบใบล่าง มีลักษณะบางและขนาดใหญ่กว่ากาบใบบนเล็กน้อย มีคลอโรฟิลล์น้อยมากจนเกือบไม่มีเลย ทำหน้าที่สร้างสปอร์โรคาร์ป และเฮทเทอโรสปอร์ และเป็นทุ่นให้แหนแดงลอยบนน้ำได้ รวมทั้งนำน้ำเข้าสู่ลำต้นแทนราก

แหนแดงมีการขยายพันธุ์ 2 แบบด้วยกัน คือ แบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ ซึ่งการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ จะเกิดเมื่อแหนแดงอยู่ในระยะที่พร้อมจะผลิตสปอร์ มีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เป็นเพศผู้และเพศเมีย แล้วมาผสมพันธุ์กัน โดยสปอร์จะแก่ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเจริญเป็นต้นอ่อนแหนแดงที่มีโครโมโซมเป็น 2n ส่วนการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เมื่อแหนแดงเจริญเติบโตเต็มที่ จะแตกกิ่งแขนงออกจากต้นแม่ แบบสลับกัน เมื่อต้นแม่แก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กิ่งแขนงย่อยจะหลุดออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไป หรืออีกวิธีหนึ่งทำได้โดยการตัดต้นแม่ออกเป็นกิ่งย่อย และส่วนที่ตัดออกมาจะสามารถเจริญ เติบโตต่อไปได้ นอกจากนี้ในแปลงเลี้ยงแหนแดง สามารถทำได้โดยการใช้ไม้กวาดไม้ไผ่ หรือใช้ไม้แขนงตีเบาๆ เพื่อให้ต้นแหนแดงฉีกขาดออกจากต้นเดิม ทำให้การขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้รวดเร็ว โดยการขยายพันธุ์ทั้ง 2 วิธีนี้ สามารถเพิ่ม ปริมาณของแหนแดงเป็นสองเท่า ภายใน 3 – 5 วัน ขึ้นอยู่ กับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม

 ประโยชน์ที่จะได้รับจากแหนแดง คือ สามารถทดแทน หรือลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผักและไม้ผล เพิ่มทางเลือกสำหรับการผลิตพืชอินทรีย์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการดูดตรึงฟอสเฟตของดิน ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น สัตว์ เคี้ยวเอื้องจำพวกวัว ควาย แพะ รวมทั้งหมู เป็ด ไก่ ปลา เป็นต้น ต้นทุนการผลิตต่ำ แหนแดงเติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็วแม้เลี้ยงในดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำ และลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว แหนแดงที่ขยายคลุมผิวน้ำจะทำให้แสงแดดส่องไม่ผ่าน จึงช่วยลดการเจริญเติบโตของวัชพืชจำพวกสาหร่ายลงได้

นอกจากนี้ แหนแดงยังเหมาะสมสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากแหนแดงมีองค์ประกอบของโปรตีน กรดอะมิโนที่จำเป็นและแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบจำนวนมาก ถือเป็นพืชอาหารสัตว์ที่ดี ปลูกง่าย ใช้เวลาปลูกระยะสั้นเติบโตเร็ว 15-30 วัน สามารถขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด โปรตีนสูง และมีไนโตรเจนสูงถึง 5% ในขณะที่ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วมีธาตุอาหารไนโตรเจนประมาณ 2.5 - 3 % ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ท้องตลาดราคา 12 บาท/กก. แต่หากเป็นอาหารที่ผสมเองราคา 4 บาท/กก. จึงสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชแหนแดงเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร

                                                                                                         ********************************

ข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร

เรียบเรียง : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ