การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ระบบปล่อยอิสระและอินทรีย์ ซึ่งจะตอบโจทย์ต่อ ผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความดูแลใส่ใจเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ทางด้านอาหารมากขึ้น รูปแบบการเลี้ยงไก่จึงจำเป็นที่ต้องตระหนักถึงสวัสดีภาพและการให้ผลผลิตสูง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไก่ที่เลี้ยง และเชื่อมโยงถึงผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย การเลี้ยงไก่ในระบบ ปล่อยอิสระ (Free – range system) ยังได้รับ ความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และยังเป็นหนทางสู่การผลิตในระบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
ระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมือง จะแบ่งออกเป็น 4 ระบบ ดังนี้
1.ระบบกรงตับ คือ ระบบการเลี้ยงไก่ยืนโรงบนกรงตลอดเวลาในพื้นที่จำกัดและแคบ ทำให้ไก่ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้
2.ระบบขังคอก คือ ระบบการเลี้ยงไก่ไข่ปล่อยพื้นภายในโรงเรือนตลอดเวลา
3.ระบบอิสระ คือ ระบบการเลี้ยงไก่ที่ปล่อยให้ไก่ออกนอกโรงเรือนได้อย่างอิสระเพื่อให้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทำให้ไก่มีความสุขและอารมณ์ดี
4.ระบบอินทรีย์ การเลี้ยงไก่ไข่ระบบปล่อยอิสระ และเลี้ยงด้วยอาหารอินทรีย์
พันธุ์ไก่พื้นเมืองกรมปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สวก.) ดำเนินการสร้างฝูงไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ขึ้น 4 ฝูง ได้แก่ ไก่ประดู่หางดำ ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์บุรี ไก่แดงสุราษฎร์ และไก่ชีท่าพระ ซึ่งมีสรรถภาพการเจริญเติบโตสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป และสามารถปรับตัวเข้ากับระบบการเลี้ยงปล่อยอิสระหาอาหารกินตามธรรมชาติได้เก่งกว่า
โรงเรือนและพื้นที่เลี้ยงไก่ระบบปล่อยอิสระ
1.ที่ตั้งฟาร์มควรห่างไกลจากชุมชน เป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม
2.เป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกหญ้าสำหรับให้ไก่กินได้ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยใช้สารเคมีที่ห้ามใช้อย่างน้อย 3 ปี
3. โรงเรือนและพื้นที่ปล่อยเลี้ยงอิสระต้องแยกจากพื้นที่พักอาศัยชัดเจน โดยยึดหลักในโรงเรือนใช้พื้นที่ 0.1 ตารางเมตรต่อตัว สำหรับไก่ขุน และ 0.5 ตารางเมตรต่อตัว สำหรับไก่แม่พ่อแม่พันธุ์ โดยมีพื้นที่ปล่อยอิสระที่มีหญ้าให้กิน 5 ตารางเมตรต่อตัว
4.พื้นที่โรงเรือนควรเป็นคอนกรีต ต้องมีวัสดุรองพื้นคอก หนา 3 – 5 นิ้ว และต้องมีรังไข่ 1 ช่องต่อแม่ไก่ 4 ตัว มีประตูเข้าออก 2 ด้าน เพื่อหมุนเวียนปล่อยไออกสู่แปลงปล่อยอิสระ
รูปแบบแปลนโรงเรือน
หากเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์ จำนวน 1100 ตัว ใช้โรงเรือนขนาด 50 ตารางเมตร ใช้พื้นที่ปล่อยอิสระ 500 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นแปลงย่อยได้หลายแบบ การเปิดประตูโรงเรือนเพียงประตูเดียวในแต่ละวันตามรอบการหมุนเวียนแปลงหญ้า
การหมุนเวียนแปลงหญ้า ทำได้ 3 แบบ
แบบที่ 1 ไม่แบ่งแปลงย่อย ให้ไก่ออกสู่แปลงหญ้าได้อย่างอิสระในช่วงกลางวัน โดยเปิดประตูสลับด้านให้ไก่ออก
แบบที่ 2 แบ่งเป็นแปลงย่อย 2 แปลง ขนาดเท่า ๆ กัน ปล่อยไก่เข้ากินแปลงย่อยละ 30 วัน
แบบที่ 3 แบบแบ่งเป็นแปลงย่อย 4 แปลง ขนาดแปลงย่อยเท่าๆ กันปล่อยไก่เข้ากินหญ้าแปลงย่อยละ 10 วัน
อาหารและน้ำ
ในระยะแรก ควรเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปไก่ไข่ตามระยะอายุของไก่หลังจากมีประสบการณ์แล้ว สามารถเลือกใช้อาหารได้ตามความเหมาะสมอาหารสัตว์ต้องปลอดภัยจากสารเคมี และไม่เสริมยาปฏิชีวนะ มีน้ำสะอาดให้กินอย่างสม่ำเสมอ แต่หากเป็นการเลี้ยงไก่ระบบอินทรีย์ จะต้องให้กินอาหารอินทรีย์
อุปกรณ์สำหรับให้อาหารและน้ำ
อุปกรณ์สำหรับให้อาหาร สำหรับลูกไก่ช่วงอายุ 7 วันแรก ให้ใช้ถาดแบน 1 ถาดต่อลูกไก่ 50 ตัว หลังจากนั้นใช้ถังแขวน 1 ถังต่อไก่ 25 ตัว โดยแบ่งให้อาหารวันละ 2 ครั้ง และมีอาหารกินย่างเพียงพอ
อุปกรณ์ให้น้ำ สำหรับไก่ช่วงอายุ 1 – 2 สัปดาห์แรก ให้ใช้ถังน้ำขนาด 4 ลิตร 1 ถังต่อไก่ 100 ตัว หลังจากนั้นใช้ถังน้ำขนาด 8 ลิตร 1 ถังต่อไก่ 50 ตัว และมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา
การเลี้ยงลูกไก่
ลูกไก่เมื่อแรกเกิด ขนที่คลุมตัวยังเป็นขนอ่อน ซึ่งป้องกันความหนาวเย็นไม่ได้ และจะมีขนจริงเมื่ออายุประมาณ 21 วัน จึงต้องมีการกกให้ความอุ่น การกกลกไก่จะแบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกการกกลูกไก่โดยอาศัยแม่ไก่ เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ที่ปล่อยให้แม่ไก่ฟักไข่และเลี้ยงลูกไก่เองโดยแม่จะใช้การกางปีกให้ความอบอุ่น ซึ่งแม่ไก่จะเลี้ยงลูกนานถึง 1 – 2 เดือน จึงหย่าลูกและกลับไปให้ไข่ใหม่ แบบที่2 การกกลูกไก่ด้วยเครื่องกก โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการกก คือ 32 – 35 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 14 – 21 วัน
การเลี้ยงไก่รุ่น
ในช่วงอายุตั้งแต่พ้นกก จนถึงเริ่มให้ไข่ หรือเมื่อลูกไก่หย่าจากแม่ การเลี้ยงจะง่ายกว่าในระยะลูกไก่ การเลี้ยงไก่รุ่นรวมกันเป็นจำนวนมากในระบบฟาร์ม จะมีการจิกตีกันสูงมากกว่าไก่พันธุ์อื่นๆ การจิกกันในฝูงของไก่พื้นเมืองจะเริ่มตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ และจะรุนแรงมากในช่วง 6 สัปดาห์ และจะค่อยๆ หมดไปในช่วง 8 สัปดาห์ ทำให้มีการสูญเสียไก่จากการจิกกันตาย จะแก้ปัญหาได้โดยการลดความเครียดที่จะเกิดกับไก่ เช่น ลดความหนาแน่นของการเลี้ยง เพิ่มถาดน้ำ ถาดอาหาร ให้เพียงพอ เพิ่มการถ่ายเทอากาศ เปิดพัดลมในโรงเรือน ตัดหน้าสด ผักสดให้ไก่กินทุกๆ วัน และควรคัดไก่ที่ด้วยในฝูง หรือสุขภาพไม่แข็งแรง ออกจากฝูงให้ไวที่สุด
การเลี้ยงไก่พันธุ์ จะแตกต่างกับระหว่างระบบฟาร์ม กับการเลี้ยงในหมู่บ้าน
ระบบฟาร์ม ไก่พื้นเมืองจะเริ่มออกไข่ฟองแรกอยู่ที่อายุประมาณ 188 วัน แม่พันธุ์ไก่พื้นเมืองต้องการอาหารประมาณ 90 กรัม/ตัว/วัน ส่วนไก่พ่อพันธุ์ต้องการ 125 กรัม/ตัว/วัน พื้นที่เลี้ยง 2 – 4 ตัว/ตารางเมตร ในโรงเรือนต้องมีรังไข่ 1 ช่องต่อแม่ไก่ 4 ตัว การผสมพันธุ์ไก่ใช้อัตราส่วนพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ 1 ต่อ 8 – 10 ตัวเป็นการผสมพันธุ์แบบฝูงเล็ก ในคอกเดียวกันมีพ่อพันธุ์ได้ 1 ตัว เนื่องจากพ่อพันธุ์จะอยู่ตัวกันไม่ได้ เนื่องจากตัวพ่อไก่พ่อพันธุ์จะตีกันเอง ในส่วนของการประสมพันธุ์แบบฝูงใหญ่ มีพ่อพันธุ์หลายตัวในคอกเดียวกัน การจัดการไม่ให้พ่อพันธุ์ตีกันเอง ทำได้โดยเลี้ยงไก่พ่อพันธุ์รวมกันตั้งแต่ไก่พ่อพันธุ์ยังเล็กๆ หรือถ้าจำเป็นต้องเลี้ยงรวมในช่วงโตเต็มที่แล้ว ให้รวมในช่วงเย็นใกล้มืด ในบริเวณคอกที่โล่งกว้าง
ระบบในหมู่บ้าน ต้องมีโรงเรือนสำหรับไก่นอนเวลากลางคืน และภายในโรงเรือนมีรังไข่ 1 ช่องต่อแม่ไก่ 1 ตัว
อาหารของไก่
สำหรับการเลี้ยงในฟาร์ม ต้องมีการให้อาหารที่มีภาชนะครบ โดยในระยะแรกของการเลี้ยง ควรใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีขายในตลาดทั่วไป เมื่อประสบการณ์หลายปีค่อยเปลี่ยนมาผสมอาหารเอง
สำหรับการเลี้ยงในหมู่บ้าน ใช้อาหารที่หาได้ในครอบครัว เช่น เศษอาหาร รำ ปลายข้าว เศษผัก เป็นต้น เนื่องจากไก่สามารถหาอาหารตามธรรมชาติเองได้ เช่น แมลง ปลวก แต่หากเลี้ยงไก่จำนวนมาก และต้องการให้เจริญเติบโตดีขึ้น ควรมีอาหารเสริมผสมให้กินด้วย
การลดอัตราการตายของลูกไก่
ลูกไก่พื้นเมืองทั่วไปที่เลี้ยงในหมู่บ้าน มีการสูญเสียเมื่อถึงช่วงเลี้ยงไก่รุ่นถึง 25 – 40% โดยสาเหตุสูญเสียพบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากโรคระบาด (โรคนิวคาสเซิล อหิวาต์เป็ด - ไก่ หลอดลมอักเสบ) แต่เกิดจากการจัดพื้นฐานของการเลี้ยงดูของเกษตรกร เริ่มตั้งแต่สุขลักษณะ เช่นภาชนะให้น้ำไม่มีการล้างทำความสะอาด ทำให้ภาชนะเหล่านี้อุดมไปด้วยตะไคร่ หรือสิ่งสกปรกสะสมอยู่ สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่ของเกษตรกรโดยทั่วไปไม่ถูกสุขอนามัย มีการปล่อยให้กินตามบริเวณบ้านและสวน ซึ่งมีทั้งแฉะ น้ำขังต่างๆ ดังนั้นการจัดการพื้นฐานให้ดี ร่วมกับการทำวัคซีน และถ่ายพระญาติภายใน และภายนอกให้พ่อแม่พันธุ์ไก่ จะทำให้ลูกไก่ที่เกิดมามีภูมิคุ้มกันจากพ่อแม่ที่ถ่ายทอดผ่านไข่ฟักสู่ลูก ในช่วงอายุ 21 วันแรก ทำให้อัตราการตายของลูกไก่ค่อนข้างต่ำ
จากแนวทางดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองกรมปศุสัตว์ และนอกจากแนวทางนี้การเลี้ยงไก่ยังมีรายละเอียดอีกมากมายนอกเหนือจากที่กล่าวมา หวังว่าแนวทางนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยให้กับทุกคนที่สนใจในการเลี้ยง ไก่พื้นเมืองกรมปศุสัตว์
ข้อมูล: กรมปศุสัตว์
เรียบเรียงโดย: นายภัคพล พงษ์เจริญธรรม นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ