วันที่ 11 มี.ค. 62 เวลา 11.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน “การประชุมอาหารและอาหารสัตว์โลกครั้งที่ 6” (The 6th Global Feed and Food Congress ; GFFC 2019) ณ โรงแรมแชงกรีล่า
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ในลำดับต้นๆ ของโลก กรมปศุสัตว์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ได้กำกับดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร (food chain) โดยที่อาหารสัตว์ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นต้นทุนหลักในการเลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้กำกับดูแลอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยมากว่า 50 ปี โดยมีกฎหมายที่กำกับดูแลทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต และผู้ขายอาหารสัตว์ รวมถึงเกษตรกรที่ใช้อาหารสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ได้มีการประกาศห้ามเติมหรือผสมยาสัตว์ ฮอร์โมน และสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคลงในอาหารสัตว์ เช่น สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (สารเร่งเนื้อแดง) ฮอร์โมนไดเอทิลสติลเบสโทรล (ฮอร์โมนเร่งโต) และยากลุ่มคลอแรมเฟนิคอลและกลุ่มไนโตรฟูแรนส์ เป็นต้น โดยที่ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพกำลังเป็นประเด็นที่สำคัญด้านการสาธารณสุข และเป็นปัญหามีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดั้งนั้นภาคปศุสัตว์มีเป้าหมายที่จะลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 30 % ภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการกำกับดูแลให้มีการใช้ยาในสัตว์อย่างถูกต้องมาโดยตลอด โดยล่าสุดได้มีการออกกฎหมายที่กำกับดูแลอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated Feed) นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ จนกระทั่งมีการดำเนินโครงการการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotics; RWA) เป็นต้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2562 สหพันธ์อุตสาหกรรมอาหารสัตว์นานาชาติ (International Feed Industry Federation; IFIF) โดยการสนับสนุนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดงาน “การประชุมอาหารและอาหารสัตว์โลกครั้งที่ 6 (The 6th Global Feed and Food Congress; GFFC 2019)” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก ร่วมบรรยายให้ความรู้และร่วมเสวนากับผู้เข้าร่วมประชุมที่มีความเกี่ยวข้องและสนใจงานด้านอาหารและอาหารสัตว์ โดยในปีนี้จะเน้นในหัวข้อ “The future of Feed & Food-are we ready” ซึ่งจะมีการกล่าวถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง มีการเจ็บป่วยและใช้ยาต้านจุลชีพน้อยลง ตลอดจนการหาทางเลือกอื่นๆ (Alternative) เฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ (Feed additives) เช่น โปรไบโอติก (Probiotics) และสมุนไพร เป็นต้น เพื่อทดแทนและลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีความปลอดภัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปศุสัตว์ สามารถผลิตปศุสัตว์ที่จะเป็นแหล่งอาหารที่เป็นโปรตีนแก่ผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างเพียงพอและปลอดภัยในอนาคตต่อไป รายละเอียดเพิ่มเติม
{gallery}news_dld/2562/2562_03_11/{/gallery}
ข่าว พิจารณา สามนจิตติ / ภาพข่าว ฉัตรชัย นวลปลอด เผยแพร่ สลก.