นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานพิธีเปิด (Kick off) โครงการรณรงค์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 1 ปี 2563 ณ สหกรณ์โคนม ไทย – เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ จำกัด อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานพิธีเปิด (Kick off) โครงการรณรงค์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 1 ปี 2563 พร้อมด้วย นายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี นายมานิตย์ โตล่ำ ประธานสหกรณ์โคนม ไทย – เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สหกรณ์/ศูนย์รับน้ำนมดิบในจังหวัดลพบุรี และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ราว 300 คน เข้าร่วมพิธี ในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ สหกรณ์โคนม ไทย – เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ จำกัด อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีนโยบายให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2562 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การรณรงค์ฉีดวัคซีนฯ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทราบ เพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีนที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน ร่วมกับปศุสัตว์เขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สหกรณ์/ศูนย์รับน้ำนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการรณรงค์ (Kick off) พร้อมกันทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ปศุสัตว์ให้ความรู้เกษตรกรเรื่องโรคและความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันพร้อมกันทั่วประเทศ และลดปัญหาการเกิดโรคระบาดได้ในที่สุด
“ โรคปากและเท้าเปื่อยเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคที่สำคัญในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร โรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเมล็ดตุ่มพองหรือแผลบริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านม และกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก โดยทั่วไปโรคปากและเท้าเปื่อยมักไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากสัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ และอาจสร้างความรุนแรงและเป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ได้เนื่องจากเชื่อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
{gallery}news_dld/2562/2562_12_02/{/gallery}