วันที่ 16 กันยายน 2563 เวลา 16.30 น.
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประชุมหารือผลดำเนินงานมาตรการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) เร่งขอคืนสภาพปลอดโรค AHS ของประเทศไทยจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกโดยเร็ว พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ มร.ฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย รศ.นายสัตวแพทย์ ดร.ปานเทพ รัตนากร พันเอกสมพงษ์ สุขประดิษฐ์ ผู้บัญชาการหน่วยม้าทรงประจำพระองค์ รองนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย รองเลขาธิการสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ ผู้แทนจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
สืบเนื่องจากการดำเนินงานตามมาตรการการควบคุม กำจัดและเฝ้าระวังโรค AHS อย่างต่อเนื่อง และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อกำจัดโรค AHS เพื่อขอคืนสภาพปลอดโรค AHS ของประเทศไทยจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก อย่างต่อเนื่องและเข้มงวด ทำให้ ณ ปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในระยะแรกคือระยะเผชิญเหตุ ซึ่งไม่พบรายงานม้าป่วยม้าตายเพิ่มประมาณ 2 เดือนแล้ว กรมปศุสัตว์ร่วมกับภาคีเครือข่ายรวม 17 หน่วยงาน ได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกันในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เพื่อกำหนดขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน โดยผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. มีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ และม้าลาย มีการผ่อนปรนในบางพื้นที่ พิจารณาจากปัจจัยและสถานการณ์การเกิดโรค แต่สำหรับม้าลายยังห้ามทำการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด
2. การฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงได้ดำเนินการแล้ว 9 พันกว่าตัวจากทั้งหมด 11,000 ตัว
3. การตรวจวิเคราะห์ระดับภูมิคุ้มกันหลังทำวัคซีน พบว่าวัคซีนมีศักยภาพในการป้องกันโรค สามารถกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ จากการตรวจ ELISA พบว่าหลังทำวัคซีน 30 วัน มีระดับภูมิคุ้มกัน 80% ของฝูง หลังทำวัคซีน 45-60 วัน มีระดับภูมิคุ้มกันได้ 100% ของฝูง จึงเป็นสาเหตุให้มีการกักโรคหลังทำวัคซีน 30 วัน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันโรค โดยในด้านวิชาการควรมีการกระตุ้นภูมิซ้ำที่ 8-11 เดือน โดยให้พิจารณาประเมินถึงความเสี่ยง อุบัติการณ์เกิดโรคและแมลงพาหะ และการทำ sentinel
4. การเจาะเลือดม้าลายโดยสุ่มตรวจตามหลักวิชาการและทางระบาดวิทยาทั่วประเทศไทย โดยมีมาตรการควบคุมห้ามเคลื่อนย้ายม้าลาย การกำจัดแมลงพาหะ และให้นำม้าลายเข้ามุ้ง ส่วนการทำวัคซีนในม้าลาย ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการ ต้องทำการศึกษาทดลองต่อไป เนื่องจากวัคซีนกำหนดฉีดแค่ในม้าและลา
5. การสุ่มตรวจริ้นแมลงพาหะ พบว่าไม่พบสารพันธุกรรม AHS ในตัวริ้นพาหะ
6. การทำ sentinel ในม้า ลา ล่อ เพื่อเป็นการติดตามและเฝ้าระวังโรค
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้มีการรายงานองค์การสุขภาพสัตว์โลกเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประสานงาน focal point ในการติดต่อประสานงานข้อมูล การชี้แจงสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณชนให้รับรู้เข้าใจอย่างถูกต้องในทิศทางเดียวกัน มีการติดตามการดำเนินงานกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้ปฎิบัติตาม MOU อย่างต่อเนื่อง และจะกำหนดให้มีการประชุมในคณะอนุกรรมการวิชาการฯ เพื่อพิจารณาหาสาเหตุการเกิดโรคและพิจารณาถึงหลักการใช้วัคซีนในม้าลายต่อไป
ณ ห้องประชุม 1 ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
{gallery}news_dld/2563/2563_09_16e/{/gallery}
ภาพ ฉัตรชัย นวลปลอด เผยแพร่ฯ สลก. / ข่าว ทีมเลขาอธิบดีกรมปศุสัตว์