รมว.กษ. เปิดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกปี 2563 (World Rabies Day 2020) จัดโดยกรมปศุสัตว์และภาคีเครือข่าย ภายใต้ธีม “สังคมร่วมใจ ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกันพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน”
วันที่ 28 กันยายน 2563 เวลา 10.30 น.
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกปี 2563 (World Rabies Day 2020) พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.สพ.ญ.ดร.วลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายสุรเดช สมิเปรม นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ และนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งในปี 2563 นี้ กรมปศุสัตว์เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานร่วมกับกรมควบคุมโรค มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาคีร่วม ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัตวแพทยสภา สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักตรวจราชการ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี และองค์กรต่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) , องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO)
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษ. กล่าวว่า ตามที่กลุ่มสหวิชาชีพทั่วโลกได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรเพื่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า (Global Alliance for Rabies Control) ได้มีการกำหนดให้มีวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกขึ้นในเดือนกันยายน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงสุนัขและป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และปัจจุบันองค์การอนามัยโลก องค์การสุขภาพสัตว์โลก และองค์การต่างๆ ผู้ร่วมสนับสนุน พร้อมใจกันกำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก
อีกทั้งด้วยพระปณิธานที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ ทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ ดำเนินงานตาม 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกัน และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า ยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านการติดตามและประเมินผล และยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี จากการดำเนินงานร่วมกัน พบว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าลดลงเป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก Thairabies.net ณ วันที่ 14 กันยายน 2563 พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 173 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 2.94 ของตัวอย่างทั้งหมด 5,884 และข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่าการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 1,476 ตัวอย่างจากทั้งหมด 9,643 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15.31 ในปี 2562 พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 371 ตัวอย่างจากทั้งหมด 7,016 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.29 และในปี 2563 พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 173 ตัวอย่าง ทั้งหมด 5,884 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 2.94
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายสัตวแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ สามารถผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวจรจัดหรือด้อยโอกาสได้ 282,845 ตัว แบ่งออกเป็นสุนัข 160,445 ตัว และแมว 122,400 ตัว ทั้งนี้จากการสำรวจล่าสุดรวมทั่วประเทศพบว่าสุนัขและแมวจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 3.6 ล้านตัว เป็นสุนัขจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 2.6 ล้านตัว และแมวจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 1 ล้านตัว กรมปศุสัตว์มีเป้าหมายการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวจรจัดหรือด้อยโอกาส รวมจำนวน 3 แสนตัวต่อปี แต่ปริมาณสุนัขและแมวจรจัดยังคงมีจำนวนมากและมีอัตราการเพิ่มจำนวนที่รวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมจำนวนสุนัขและแมวจรจัด มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รมว.กษ. จึงได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์จัดทำโครงการรณรงค์และเพิ่มเป้าหมาย การผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวจรจัดหรือด้อยโอกาส ในปีงบประมาณ 2563 จากเดิมเป้าหมาย 300,000 ตัว เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 600,000 ตัวทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการให้บริการเพิ่มมากขึ้นและลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์มีเป้าหมายสำคัญคือ สร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีจังหวัดที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดโรคได้ทั้งหมด 23 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กันยายน 2563) ได้แก่ อ่างทอง, สิงห์บุรี, ตราด, นครนายก, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, สกลนคร, บึงกาฬ, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, พะเยา, แม่ฮ่องสอน, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์, สุโขทัย, นครปฐม, สุพรรณบุรี, พังงา, ชุมพร, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส
โดยในปี พ.ศ. 2563 นี้ กรมปศุสัตว์ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day 2020) ในวันที่ 28 กันยายน 2563 โดยใช้ธีม “END RABIES COLLABORATE VACCINATE” “สังคมร่วมใจ ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกันพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน” การจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกในวันนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาให้ความรู้ในด้านการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การนำเสนอผลงานนวัตกรรมการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าฯ การตอบคำถามไขข้อข้องใจในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์และการป้องกันโรคโดยดาราพิธีกรชื่อดัง พร้อมกับการประกาศผลรางวัลผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ รางวัลทุนการศึกษาจากการประกวดคลิปวิดีโอของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา กิจกรรมทั้งหมดนี้เพื่อปลูกจิตสำนึก ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครบถ้วนแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดจากโรคพิษสุนัขบ้า เน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่บุคคลข้างเคียงรอบตัว นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น 1) โครงการปศุสัตว์ร่วมใจกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อช่วยลดจำนวนประชากรสุนัขและแมวที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของในประเทศไทย ซึ่งจำนวนประชากรสุนัขไม่มีเจ้าของถือว่าเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า 2) โครงการสัตวแพทย์ไทยมุ่งมั่นร่วมใจป้องกันภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องใน World Rabies Day 2020 เป็นโครงการที่ร่วมมือกับสถานพยาบาลสัตว์เอกชน เพื่อให้ความรู้และให้บริการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งภาครัฐ องค์กรต่างๆ และประชาชน อีกทั้งในส่วนภูมิภาค กรมปศุสัตว์ได้ประสานความร่วมมือให้แต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมออกหน่วยทำหมันและฉีดวัคซีนในพื้นที่ขึ้นในเดือนกันยายน 2563 เพื่อให้บริการประชาชนตามความเหมาะสมและประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากโรคพิษสุนัขบ้า ความสำคัญในการควบคุม ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่ต่อไป
ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)
{gallery}news_dld/2563/2563_09_28c/{/gallery}
ภาพ กิตติพรรณ จินดามัง / ข่าว ทีมงานอธิบดี / กลุ่มเผยแพร่ / สลก