‘รมช.ประภัตร’ ติดตามงานส่งเสริมอาชีพเกษตรกร จ.ขอนแก่น สร้างรายได้ลดรายจ่าย ตั้งเป้า 25,000 ครัวเรือน มุ่งยกระดับขอนแก่นเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการเกษตร
วันนี้ (30 ต.ค.63) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ นายสมศักดิ์จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าร่วมงานฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ เกษตรอำเภอ ณ ห้องประชุมแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ซึ่งตนรับผิดชอบในระดับพื้นที่ จ.ขอนแก่น และจ.ร้อยเอ็ด และได้มีการประชุมร่วมกัน พร้อมทั้งลงพื้นที่ตรวจราชการ เมื่อวันที่ 7 – 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา และได้มอบนโยบายเกี่ยวกับอาชีพที่ส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกร ในพื้นที่ 6 อาชีพ ได้แก่ 1) เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว แพะ แกะ ไก่ หมูและกระบือ 2) ปลูกถั่วเขียว 3 ) ปลูกขิง 4) ปลูกหญ้าเนเปียร์ (หญ้าอาหารสัตว์) ข้าวโพด มันสำปะหลัง 5) ปลูกแหนแดง และ 6) เลี้ยงจิ้งหรีด นั้น
นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าในการส่งเสริมอาชีพแต่ละด้าน ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ อาทิ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องฯ มีกลุ่มที่ยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 145 กลุ่ม ได้รับการเห็นชอบแผนธุรกิจแล้ว 35 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ รวม 96.7 ล้านบาท โคเนื้อ 32 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 90.9 ล้านบาท แพะ 2 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 4.8 ล้านบาท ไก่เนื้อ 1 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 1.0 ล้านบาท ได้รับอนุมัติสินเชื่อธุรกิจแล้วรวม 5 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 17 ล้านบาท, ปลูกขิง มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 11.5 ไร่ ผลผลิตรวม 5.75 ตัน โดยส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อกำหนดราคาและวางแผนการผลิตกับผู้รับซื้อผลผลิตคัดเลือกพื้นที่การผลิตให้เหมาะสมกับการผลิตขิงการให้ความรู้เกษตรกรในการผลิตขิง เชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้รับซื้อในการรับซื้อผลผลิต, ปลูกหญ้าเนเปียร์ (หญ้าอาหารสัตว์) ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง ติดตามตรวจเยี่ยมพร้อมให้คำแนะนำด้านการปลูก การจัดการแปลง การบำรุงรักษา และบริการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาของพืชอาหารสัตว์ และ ปลูกแหนแดง ดำเนินการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์แหนแดง ใน 26 อำเภอ เพื่อเตรียมสถานที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์แหนแดงใน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) เพื่อเป็นจุดเรียนรู้และสาธิตการเพาะเลี้ยงแหนแดง ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เป็นต้น
“เกษตรกรจังหวัดขอนแก่นมีทั้งหมด 250,000 ครัวเรือน ต้องส่งเสริมให้ได้10% หรือประมาณ 25,000 ครัวเรือน เน้นพื้นที่ที่ลำบากเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ในระยะสั้น เพื่อลดรายจ่ายภายใน 4 เดือน ผ่านโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/2564 ที่ทางกระทรวงเกษตรฯ เตรียมนำเสนอ ครม. อาทิ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว) การสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตร การส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุก (ปลาตะเพียนขาว) การปลูกพืชอาหารสัตว์ และการเลี้ยงไก่พื้นเมือง (ไก่พื้นเมือง, เป็ดไข่, เป็ดเทศ) พร้อมกันนี้ มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ สำรวจพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสมเพื่อเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้ ตลอดจนมุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้ จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการต่างๆ ที่สำคัญด้านการเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศต่อไป
ภาพ ธงชัย สาลี สลก. คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ /ข่าว กระทรวงเกษตรฯ
{gallery}news_dld/2563/2563_10_30d/{/gallery}