กรมปศุสัตว์เดินหน้าขับเคลื่อนสมุนไพรไทยในการเลี้ยงปศุสัตว์
วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.30 น.
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยในการเลี้ยงปศุสัตว์ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายวุฒิพงษ์ อินทรธรรม (หัวหน้ากลุ่มวิชาการด้านปศุสัตว์) , นายวิศาล ศรีสุริยะ (ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาพันธุ์สุกร) , นายสมเกียรติ เพชรวาณิชกุล (ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตวัคซีน โรคปากและเท้าเปื่อย) และผู้แทนจากกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ , สำรักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ , สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ , กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ , สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ และกลุ่มพัฒนาวิชาการปศุสัตว์ เข้าร่วมประชุม
การขับเคลื่อนสมุนไพรตามแผนแม่บทแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรอย่างยั่งยืน โดย กรมปศุสัตว์ ดำเนินการตามบุทธศาสตร์ที่ 3 มาตรการที่ 5 การใช้สมุนไพรในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคฯ แผนงานข้อที่ 5.5 ส่งเสริมการใช้สมุนไพรที่เกี่ยวข้องในขบวนการผลิตสัตว์และสัตว์เลี้ยงในชุมชน
การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพิจารณาถึง การทบทวนคำสั่งการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยในการเลี้ยงปศุสัตว์ , บทบาทภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตสมุนไพร และพิจารณาถึง การทำ MOUร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ใน“โครงการความร่วมมือวิจัย พัฒนา กัญชา กัญชง กระท่อม และสมุนไพร เพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์และสัตวแพทย์”
ในการนี้ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสมุนไพรไทยในการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยผลักดันการดำเนินงานของคณะกรรมการการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยให้เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเลี้ยงปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การจัดตั้งศูนย์สมุนไพรเพื่อการปศุสัตว์ , การจัดสรรบุคลากรที่มีความสามารถและมีความเหมาะสมร่วมดำเนินการขับเคลื่อนฯ โดยให้เพิ่มเติมในด้านกฎหมาย , กระตุ้นให้เกิดงานวิจัยด้านสมุนไพรไทยให้มีความหลากหลาย , การจัดหลักสูตรในการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทย และการศึกษาดูงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย เพื่อนำความรู้มาปรับใช้ในการดำเนินงานและขับเคลื่อนฯ ณ ห้องประชุมม้ากัณฐกะ ชั้น 1 ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
{gallery}news_dld/2563/2563_11_06a/{/gallery}