วันที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น.
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดอาคารเรียน “โรงเรียนสัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์อนุสรณ์” คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยนายกสมาคมนักเรียนเก่าสัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์ ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถนายอำพันธ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ น.สพ.เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ ผอ.กองการเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เลขานุการกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานในครั้งนี้
โรงเรียนสัตวแพทย์ เป็นโรงเรียนที่สอนนักเรียนเพื่อออกมาปฏิบัติงานของกรมปศุสัตว์โดยเฉพาะ กระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม 2534 ฯพณฯ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้นโยบายกับกรมปศุสัตว์ในการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนสัตวแพทย์ให้ยกระดับการศึกษาจากประกาศนียบัตรวิชาสัตวแพทย์ (2 ปี) เป็นระดับปริญญาตรี (4 ปี) โดยเข้าเป็นสถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวันที่ 16 ธันวาคม 2534 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมติให้รับโรงเรียนสัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์ เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยให้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนได้รับจัดตั้งเป็นคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน
ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นี้ เป็นวันที่ครบรอบ 27 ปี ของการสถาปนาคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ และคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ได้จัดให้มีพิธีเปิดอาคารเรียนแห่งนี้ขึ้น ซึ่งถูกปรับปรุงจากอาคารเรียนเดิมแห่งแรกของโรงเรียนสัตวแพทย์ (กรมปศุสัตว์) พร้อมทั้งตั้งชื่ออาคารเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่โรงเรียนสัตวแพทย์ (กรมปศุสัตว์) เป็น อาคารเรียน “โรงเรียนสัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์อนุสรณ์” โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานที่ให้นิสิต บุคลากร ตลอดจนประชาชนที่มีความสนใจได้มาศึกษาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และจัดกิจกรรมทางวิชาการที่สร้างสรรค์ ตลอดจนเป็นศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในด้านปศุสัตว์และด้านสัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แบบและทันสมัย ประกอบด้วยห้องบรรยาย และห้องปฏิบัติการเพื่อการเรียนการสอนและงานวิจัย
สำหรับตำแหน่งสัตวแพทย์ หรือ Paravet ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนสัตวแพทย์นั้น นับว่าสำคัญและมีบทบาทต่อกรมปศุสัตว์ โดยมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการปศุสัตว์ของประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น 1) ด้านการกำกับ ดูแล และดำเนินการด้านสุขภาพสัตว์ 2) ด้านการควบคุมดูแลความปลอดภัยอาหารด้านสินค้าปศุสัตว์ 3) ด้านการพัฒนา ให้คำแนะนำ และการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในด้านสนับสนุนส่งเสริมการปศุสัตว์ที่เป็นประโยชน์ และ 4) ด้านการกำกับ ดูแล ติดตามการปฏิบัติงานตามโครงการพิเศษและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันเนื่องจากไม่มีการผลิตบุคลากรในตำแหน่งสัตวแพทย์จากโรงเรียนสัตวแพทย์แล้ว ตำแหน่งสัตวแพทย์ (Paravet) ในกรมปศุสัตว์ปัจจุบันมีจำนวน 1,320 คน ซึ่งเกษียณอายุราชการอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2564 – 2568 โดยมีเกษียณเฉลี่ยปีละประมาณ 114 ตำแหน่ง ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเปลี่ยนตำแหน่งสัตวแพทย์เป็นตำแหน่งนายสัตวแพทย์หรือตำแหน่งนักวิชาการสัตวบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ซึ่งได้รับการอนุมัติมาแล้วทั้งสิ้น 417 อัตราตามจำนวนผู้ที่เกษียณ ซึ่งรุ่นสุดท้ายจะเกษียณจากกรมปศุสัตว์ในปี พ.ศ. 2577
ปัจจุบันโรงเรียนสัตวแพทย์ได้เปลี่ยนเป็น คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ ซึ่งได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง มีนิสิตที่จบจากคณะเทคนิคสัตวแพทย์ ที่ปฏิบัติงานที่กรมปศุสัตว์ มีทั้งสิ้น 24 ราย แบ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ 16 ราย และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 8 ราย
ณ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
{gallery}news_dld/2563/2563_12_16a/{/gallery}
ภาพ ฉัตรชัย นวลปลอด เผยแพร่ฯ สลก. / ข่าว ทีมเลขาอธิบดีกรมปศุสัตว์