วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2564 เวลา 9.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโตอธิบดี กรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกรมปศุสัตว์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ครั้งที่ 1 เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย และขับเคลื่อนงานโครงการสำคัญของกรมปศุสัตว์พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ 4 ท่าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายสุรเดช สมิเปรม นายสัตว์แพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ และ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกอง/สำนัก หัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย ปศุสัตว์เขต 1 ปศุสัตว์เขต 2-9 (ทางระบบ VDO Conference) และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รอบ 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2563) ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิด ให้ได้ตามแผนงาน/เป้าหมาย งบลงทุนให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 (มี.ค. 64)
2. ผลการดำเนินงานปี 2564 รอบ 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2563) ให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการในเชิงรุกและให้พิจารณาการจัดทำงบประมาณปี พ.ศ.2565 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภารกิจของกรมปศุสัตว์ และไม่ซ้ำซ้อนกับงบอื่นๆ ที่ได้รับระหว่างปี เน้นการทำแบบนวัตกรรมใหม่ภายใต้งบอย่างเป็นประโยชน์และคุ้มค่า
3. ผลการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน แนวทางการส่งนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ ตามที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ดังนี้ 1) ให้ผู้ประกอบการส่งนมชนิด UHT โดยมีอายุสำหรับการบริโภคเหลือไม่น้อยกว่า 4 เดือน หรือ 2) ส่งนมชนิดพาสเจอไรส์ ตามที่คู่สัญญาตกลงกันตามเงื่อนไข ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการขนส่งเก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส จัดส่งวันเว้นวัน หรือวันเว้น 2 วันแล้วแต่กรณี โดยให้ยึดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
4. สถานการณ์โรคระบาดสัตว์ที่สำคัญด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมราจิกเซปติซีเมีย (คอบวม) พื้นที่ที่มีการเกิดโรคและความเสี่ยงให้ทำแผนและฉีดวัคซีน โรคลัมปี้สกินมีที่พม่าและเวียดนามให้ชะลอการนำเข้าจากประเทศที่มีโรค โรคไข้หวัดนก และโรคพิษสุนัขบ้า โดยทุกโรคให้ดำเนินการเชิงรุก ตามมาตรการอย่างเคร่งครัด รายงานและสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว
5. การปรับปรุงโครงสร้างราชการของกรมปศุสัตว์ และให้ทุกหน่วยงาน ทุกเขตส่งผลงานดี/เด่นเพื่อพิจารณาคัดเลือกรางวัล DLD QUALITY AWARD 2021 รับสมัครภายใน 31 ม.ค. 64 นี้
6. ผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง มีการดำเนินการตามแผนธุรกิจแล้วใน 23 จังหวัด 100 กลุ่ม 1,377 ราย ในสุกร โคขุน แพะขุน กระบือ โคต้นน้ำและคอกกลาง
7. Motor Pool ศูนย์บริการยืมเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อผลิตเสบียงสำรองช่วยเกษตรกรช่วงฤดูแล้ง สามารถลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ทดแทนแรงงานด้วยเครื่องจักรกล และลดปัญหามลพิษและหมอกควัน ดำเนินการ ธ.ค. 63- เม.ย. 64 เกษตรกรสามารถยืมไปผลิตฟางแห้ง อาหารข้น และเสบียงสัตว์ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
8. ระบบฐานข้อมูลการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ e-breeding โคเนื้อ มีมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายสัตว์พันธุ์ดี ให้เพิ่มการรับรู้สร้างการประชาสัมพันธ์มากขึ้น
9. งบประมาณวิจัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 39.115 ล้านบาท ต้องมีการชี้แจงแผนวิจัยยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์กับ สกว.ประมาณ เม.ย.-พ.ค. 64 ใน 44 โครงการ (ต่อเนื่อง 11 โครงการ ใหม่ 33 โครงการ)
ทั้งนี้ให้ทุกหน่วยงาน ทุกเขตและจังหวัดเร่งติดตามการดำเนินงานและให้ความสำคัญ ดำเนินงานเชิงรุกในประเด็นหรือเรื่องเร่งด่วน (hot issue) เช่น มาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ในสถานการณ์ COVID-19 การช่วยเหลือเกษตรกรโคนม การเข้มงวดในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) โครงการโคบาลบูรพา การส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ให้รักษาเสถียรภาพราคาภายในประเทศ และการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ
ภาพ ธงชัย สาลี สลก /ข่าว คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์
{gallery}news_dld/2564/2564_01_12/{/gallery}