วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม รณรงค์ (Kick off) ควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ปล่อยขบวนสัตวแพทย์ฉีดพ่นน้ำยาฆ่า แมลงพาหะนำโรค และขอความร่วมมือผู้เลี้ยงห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ ในการนี้ ได้มอบเวชภัณฑ์ และอาหารสัตว์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และสร้างความมั่นใจในการควบคุม ป้องกัน มั่นใจหยุดยั้งได้ โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยปศุสัตว์เขต 4 ปศุสัตว์เขต 3 และปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เขต 4 ฯลฯ ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ สำนักงานเทศบาลตำบลพระลับ อ. เมือง จ.ขอนแก่น
นายประภัตรฯ เปิดเผยว่า โรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease)ในโค-กระบือ ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยได้ปิดด่านชายแดนทั้งหมดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจากประเทศเพื่อนบ้าน และ เพื่อให้การควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด Kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ในวันที่ 25 - 26 พ.ค. 64 ณ จ.ขอนแก่น และมุกดาหาร โดยกิจกรรมประกอบด้วย การปล่อยขบวนสัตวแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยพ่นยาทำลายเชื้อโรค แจกและพ่นสารเคมีกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ แจกยารักษาแผลภายนอก ยาบำรุง แร่ธาตุ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจโรคและการป้องกันให้กับพี่น้องเกษตรกร
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะเกิดเฉพาะในโค-กระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน รักษาหายได้ และสามารถบริโภคได้ โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนัง และเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์โรคลัมปีสกิน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ค. 2564) พบรายงานการเกิดโรคลัมปี สกิน จังหวัดในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 4 เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโค กระบือป่วย ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการ ควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกิน 5 มาตรการ ดังนี้ 1) ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด
2) เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว
3) การป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนาโรค
4) รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียแก่เกษตรกร และ 5) การใช้วัคซีนควบคุมโรค ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อและจะได้นำเข้ามาภายใน 31 พฤษภาคม 2564 นี้
เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือสามารถการป้องกันโรคได้โดยการกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ ตลอดจนกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด ทั้งนี้ขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค-กระบือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 06-3225-6888 หรือทางแอพพลิเคชั่น DLD4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด
View the embedded image gallery online at:
https://secretary.dld.go.th/webnew/index.php/th/news-menu/headnews-menu/7656-kick-off-2#sigFreeIdc1b457a74c
https://secretary.dld.go.th/webnew/index.php/th/news-menu/headnews-menu/7656-kick-off-2#sigFreeIdc1b457a74c
ภาพข่าว กิตติพรรณ จินดามัง / กลุ่มเผยแพร่้ / สลก