เมื่อวันที่ 15  มกราคม 2561  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ครั้งที่ 1/2561 เพื่อการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำในปัจจุบัน

นายลักษณ์  วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์พบว่าสถานการณ์ราคาสุกร ณ สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2561 มีราคาสุกรเฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 46.80 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประสบภาวะขาดทุน โดยราคาที่ตกต่ำเป็นผลมาจากปริมาณสุกรที่ผลิตได้ไม่สอดคล้องกับปริมาณความต้องการผู้บริโภค รวมทั้งการส่งออกไปยังต่างประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงเชิญประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบหลักการของมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรเสนอ ดังนี้ 1) นำลูกสุกรไปผลิตเป็นหมูหัน จำนวน 100,000 ตัว 2) เพิ่มการปลดระวางแม่พันธุ์สุกร จำนวน 100,000 ตัว (ปลดระวางแม่พันธุ์สุกรในระบบปกติ 300,000 ตัว) และ 3) นำสุกรขุนมาชำแหละและเก็บเข้าห้องเย็น จำนวน 100,000 ตัว นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ดำเนินมาตรการเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ ให้ผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ลดการผลิตลูกสุกรลง 10 % ด้วยการชะลอการผสมแม่พันธุ์สุกรเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 รอบการผลิต คาดว่าจะลดลูกสุกรลงได้อย่างน้อย 400,000 ตัว และให้กรมปศุสัตว์จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาสนับสนุนสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรและผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยอีกด้วย

       นายลักษณ์  วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาสุกรราคาตกต่ำครั้งนี้ จะช่วยทำให้ปริมาณสุกรที่ผลิตได้มีความสมดุลกับความต้องการบริโภคของตลาดในประเทศและการส่งออกมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลทำให้ราคาสุกรในปี 2561 ปรับตัวดีขึ้น จึงขอให้กรมปศุสัตว์เร่งชี้แจงทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินมาตรการ และขอให้ผู้เลี้ยงสุกรเข้าร่วมดำเนินมาตรการ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมา มีการขยายปริมาณการเลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมาก จนทำให้ราคาตกต่ำลง ทั้งนี้ ขอให้ผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ช่วยรับภาระแทนรายย่อย โดยไม่จำเป็นต้องขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อชดเชยจากรัฐบาล

       สำหรับในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งต่อไป นายลักษณ์  วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์ นำเสนอเรื่องเชิงนโยบายเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับระบบการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย ได้แก่ การพัฒนาฐานข้อมูลการเลี้ยงสุกร และระบบการเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) ด้านวัฏจักรราคาสุกร การสนับสนุนความเข้มแข็งให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยผ่านระบบสหกรณ์ แนวทางการลดต้นทุนการผลิตสุกรทั้งระบบ และแนวทางในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นกลไกในการช่วยเหลือดูแลระบบในสถานการณ์ราคาสุกรตกต่ำ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในที่สุด

*******************************************

ข่าวและข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ (16 มกราคม 2561)